จากกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับการนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะเพื่อใช้ประกอบอาหารใน 12 ร้านค้าในเขตกรุงเทพมหานคร ก่อให้เกิดความกังวลต่อประชาชนทั่วไปนั้น
หลังเกิดเหตุที่ฟุกุชิมะ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศงดการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำฟุกุชิมะทั้งหมด และมีการตรวจวัดปริมาณสารกัมมันตรังสีในเนื้อปลา (โดยเฉพาะปริมาณซีเซียม-137) เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ก่อนการประกาศอนุญาตให้จับปลาที่ฟุกุชิมะ ซึ่งไม่รวมเขตรัศมี 10 กม. จากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตรวจวัดปริมาณสารกัมมันตรังสีในเนื้อปลาแล้ว และอนุญาตให้จับเฉพาะชนิดของปลาที่ตัวอย่างปลาทั้งหมดมีปริมาณสารกัมมันตรังสีต่ำกว่ามาตรฐานญี่ปุ่น*ซึ่งเข้มงวดกว่ามาตรฐานสากล** 10 เท่า
สิ่งสำคัญที่ประชาชนทัวไปอาจยังไม่ทราบ คือรังสีเป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว และมนุษย์ก็รับสารกัมมันตรังสีเหล่านี้จากรังสีอวกาศ (cosmic ray) จากพื้นดิน จากอาหารที่รับประทานเข้าไป และจากการฉายรังสีเอกซเรย์ แต่เนื่องจากรังสีเหล่านี้อยู่ในระดับต่ำ จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
มาตรฐานของสารกัมมันตรังสีก็ถูกกำหนดขึ้นโดยอ้างอิงจากรังสีที่มีอยู่ในธรรมชาติที่กล่าวมาข้างต้นนี้ โดยจะกำหนดปริมาณสารกัมมันตรังสีซึ่งถึงแม้บุคคลธรรมดาจะบริโภคอาหารชนิดนี้ทุกวันตลอดชีวิต ก็จะได้รับรังสีไม่เกินจากปริมาณรังสีที่ได้รับในธรรมชาติ*** กล่าวคือ ไม่ว่าจะบริโภคเท่าใดก็จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
อย่างไรก็ดี หากมีความกังวลในปริมาณสารกัมมันตรังสีที่อยู่ในอาหาร ก็สามารถส่งมาตรวจได้ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เพื่อให้มั่นใจว่าปริมาณสารกัมมันตรังสีในปลาไม่เกินมาตรฐาน
* ญี่ปุ่นกำหนดมาตรฐานของสารซีเซียม-137 ในปลาว่าจะต้องไม่เกิน 100 Bq/kg
อ้างจาก New Standard limits for Radionuclides in Foods, Department of Food Safety, Pharmaceutical & Food Safety Bureau, Ministry of Health Labour and Welfare (2011) new_standard.pdf
** มาตรฐานสากลที่กำหนดโดย Food and Agricultual Organization of the United Nations (FAO) สำหรับปริมาณซีเซียม-137 ในปลาคือ 1000 Bq/kg
อ้างจาก CODEX STAN 193-1995 (ปรับปรุงครั้งสุดท้ายปี 2014) CXS_193e_2015.pdf
*** การกำหนดมาตรฐานของสารกัมมันตรังสีในอาหาร จะกำหนดสมมติฐานให้บุคคลรับประทานอาหารชนิดนั้นทุกวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี แล้วเลือกปริมาณสารกัมมันตรังสีที่จะทำให้ปริมาณรังสีที่ได้รับต่อปีไม่เกิน 1 mSv ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับประชาชนทั่วไป
อ้างจาก UNSCEAR 2013 Report, Annex A, Levels and effects of radiation exposure due to the nuclear accident after the 2011 great east-Japan earthquake and tsunami, Appendix C (Assessment of doses to the public) UNSCEAR_2013A_C-13_Methodology_ingestion_2015-01.pdf
อ้างอิง: สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สทน.แจงไทยนำเข้าอาหารทะเลจากฟูกูชิมะ ปลอดภัย เพราะมีมาตรการตรวจสอบหลายขั้น ย้ำผู้บริโภคไม่ต้องกังวล Thai Nuclear Club นิวเคลียร์เปลี่ยนโลก