รังสีจากเตาไมโครเวฟ |
||
บทนำ เตาไมโครเวฟใช้คลื่นรังสีไมโครเวฟในการทำอาหาร ซึ่งเป็นคลื่นแบบเดียวกันทั้งเตาที่ใช้ตามบ้าน ร้านค้า หรือโรงงานต่างๆ ปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนในการใช้เตาไมโครเวฟจากผู้ผลิต การดูแลรักษาเพื่อให้ใช้งานได้ดี หรือป้องกันอันตรายจากรังสี เราจึงควรรู้คุณสมบัติบางอย่างและข้อควรระวังในการใช้เตาไมโครเวฟ |
||
ไมโครเวฟคืออะไร ?
ไมโครเวฟเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่นเดียวกับแสงสว่าง โดยอยู่ในช่วงของคลื่นวิทยุความถี่สูง (high frequency radio wave) เมื่อรังสีมีความถี่สูงขึ้น ความยาวคลื่นจะลดลง คลื่นที่มีความถี่สูงมาก ความยาวคลื่นจึงสั้นมาก ดังนั้น คลื่นชนิดนี้จึงได้ชื่อว่าไมโครเวฟ ซึ่งแปลว่าคลื่นสั้นมาก รังสีอินฟราเรด (infrared) แสงอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) และรังสีเอกซ์ (X-ray) เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นเดียวกัน แต่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าไมโครเวฟ ไมโครเวฟที่เคลื่อนที่ผ่านตัวกลาง อาจจะทะลุผ่านไป เกิดการสะท้อนหรือถูกดูดกลืน วัตถุที่เป็นโลหะจะสะท้อนไมโครเวฟทั้งหมดที่ตกกระทบ ส่วนวัตถุที่ไม่ใช่โลหะ เช่น แก้ว หรือพลาสติก ไมโครเวฟจะเคลื่อนที่ผ่านไปได้บางส่วน วัตถุที่มีความชื้น เช่น ร่างกายคนเราหรืออาหารจะดูดกลืนพลังงานของไมโครเวฟ ถ้าพลังงานที่ถูกดูดกลืนเอาไว้มากกว่าพลังงานที่คายออกมาอุณหภูมิก็จะสูงขึ้น ไมโครเวฟใช้สำหรับทำอะไร ? โดยทั่วไปไมโครเวฟมีใช้ในงานด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียม โทรศัพท์เคลื่อนที่ เรดาร์ อุปกรณ์นำร่องทางการบินและการเดินเรือ นอกจากนั้น ยังมีการนำไปใช้ในการให้ความร้อนทางอุตสาหกรรมและการรักษาโดยการใช้ความร้อน ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน มีการใช้เตาไมโครเวฟตามบ้านเรือน ทางอุตสาหกรรม และการพาณิชย์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก บทความนี้จะกล่าวถึงแต่เพียงเตาไมโครเวฟที่ใช้กันตามบ้านเท่านั้น |
||
|
||
เตาไมโครเวฟทำงานอย่างไร ?
ในเตาไมโครเวฟมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่า แมกนีตรอน (magnetron) ใช้สำหรับผลิตคลื่นไมโครเวฟ คลื่นไมโครเวฟที่ผลิตออกมานี้มีความถี่ 2,450 MHz ซึ่งจะปล่อยออกมาที่ช่องว่างภายในเตาที่มีผนังเป็นโลหะ คลื่นไมโครเวฟจะสะท้อนไปมาอยู่ภายในเตาและถูกดูดกลืนโดยอาหารหรือเครื่องดื่มที่เราใส่เข้าไป การดูดกลืนที่ไม่สม่ำเสมอจะทำให้บางตำแหน่งเกิดจุดร้อน (hot spots) ขึ้น ไมโครเวฟที่ผ่านเข้าไปในอาหารหรือของเหลวจะทำให้โมเลกุลของน้ำเกิดการสั่น ทำให้เกิดการเสียดสีกันของโมเลกุล จึงเกิดความร้อนและทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เวลาที่ใช้ประกอบอาหารจึงสั้นกว่าการใช้เตาแบบธรรมดา ความร้อนจะเพิ่มขึ้นเร็วหรือช้าจะขึ้นกับปริมาณความชื้น รูปร่าง ปริมาตร และมวลของอาหารที่ใส่เข้าไป อาหารบางชนิดจะมีความร้อนเพิ่มขึ้นไม่สม่ำเสมอ ที่ผิวนอกอาจจะเพียงอุ่นๆ ขณะที่ภายในใกล้ถึงจุดเดือด ตัวอย่างเช่น โดนัทไส้แยม หรือพายไก่ อาหารบางชนิด บางส่วนจะสุก บางส่วนไม่สุก อาหารแช่แข็งอาจจะยังแข็งตัวอยู่ถ้าไม่นำออกมาทิ้งไว้ให้น้ำแข็งละลายก่อน ผนังของเตาไมโครเวฟและภาชนะที่ไม่ใช่โลหะจะไม่เกิดความร้อนโดยตรงจากไมโครเวฟ เนื่องจากเป็นวัสดุที่ไม่ดูดกลืนพลังงานของไมโครเวฟ แต่ผนังภายในของเตาและภาชนะร้อนขึ้น เนื่องจากได้รับความร้อนจากอาหารที่ใส่เข้าไป และความร้อนจากการทำงานของวงจรไฟฟ้าของเตา |
||
|
||
การได้รับคลื่นไมโครเวฟจะมีผลต่อสุขภาพอย่างไร ?
ถ้าได้รับไมโครเวฟปริมาณสูงจะทำให้เกิดความร้อน ในกรณีที่เป็นเนื้อเยื่อของร่างกาย ความร้อนที่สูงเกินไปจะทำให้เป็นอันตราย เช่น เกิดการไหม้ของเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงหรือทำให้เกิด hyperthermia มีงานวิจัยเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่มีการยืนยันที่แน่นอนถึงผลกระทบของการได้รับไมโครเวฟว่ามีปริมาณระดับใดที่จะส่งผลให้เกิดมะเร็ง เตาไมโครเวฟมีความปลอดภัยเพียงใด ? คลื่นไมโครเวฟที่ผลิตจากเตาไมโครเวฟจะหมดลงทันทีที่ปิดสวิทช์ของหลอดแมกนีตรอน แบบเดียวกับการปิดสวิทช์หลอดไฟฟ้า จะไม่มีคลื่นไมโครเวฟหลงเหลืออยู่ในอาหารเมื่อปิดสวิช์หรือนำออกมาจากเตาแล้ว ไมโครเวฟจะไม่ทำให้อาหารหรือเตามีกัมมันตภาพรังสี อาหารที่ปรุงด้วยเตาไมโครเวฟจึงไม่มีอันตรายจากรังสี เตาไมโครเวฟทุกเครื่องจะมีสวิทช์แบบ safety interlock อย่างน้อย 2 ส่วน ซึ่งจะตัดการผลิตไมโครเวฟทันทีที่ประตูของเตาถูกเปิดออก การออกแบบเตาสมัยใหม่จะทำให้ไมโครเวฟอยู่เฉพาะภายในเตา แต่ก็ยังมีโอกาสที่ไมโครเวฟจะรั่วออกไปตามแนวรอบประตูได้ โดยทั่วไปจะต้องออกแบบให้ไมโครเวฟรั่วออกไปต่ำกว่าค่าที่กำหนด ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า AS/NZS60335.2.25:2002 Safety Part 2.25 ของออสเตรเลีย กำหนดมาตรฐานการทดสอบระดับการรั่วของไมโครเวฟว่า การรั่วของไมโครเวฟที่ระยะ 50 มิลลิเมตรหรือเกินกว่านั้นจากผิวนอกของเตาจะต้องไม่เกิน 50 วัตต์ต่อตารางเมตร มาตรฐานนี้ใช้กับเตาไมโครเวฟที่ใช้ตามบ้านหรือใช้งานทั่วไป ค่าที่กำหนดนี้เป็นแต่เพียงการป้องกันและเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น ไม่มีใครทราบว่าถ้าระดับของไมโครเวฟรั่วเกินกว่านี้จะมีผลอย่างไรต่อผู้ใช้ จากการสำรวจของหน่วยงานทดสอบแสดงให้เห็นว่า มีเตาไมโครเวฟที่มีการรั่วเกินกว่าระดับที่กำหนดน้อยมาก เตาไมโครเวฟที่อยู่ในสภาพดีและใช้อย่างถูกต้องมีความปลอดภัย ถ้าเตามีความเสียหาย ไม่ควรนำมาใช้จนกว่าจะได้รับการซ่อมหรือทดสอบโดยช่างที่มีประสบการณ์ว่าไม่มีไมโครเวฟรั่วออกมาเกินกว่าที่กำหนด เตาไมโครเวฟโดยทั่วไปไม่มีความจำเป็นที่ต้องวัดระดับการรั่วเป็นประจำ |
||
|
||
เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Cardiac Pacemakers)
เมื่อเข้าไปใกล้กับเตาไมโครเวฟ เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจไม่มีผลกระทบหรือได้รับผลรบกวนการทำงาน ถ้าระดับของไมโครเวฟที่รั่วมีค่าไม่เกินระดับที่กำหนด ผู้ที่ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจควรปรึกษาแพทย์หากมีปัญหาในกรณีนี้ ภาชนะที่เป็นพลาสติกเหมาะสำหรับการเก็บอาหารที่อุณหภูมิห้อง แต่อาจจะไม่เหมาะที่จะใช้กับเตาไมโครเวฟ เมื่อปรุงอาหารด้วยอุณหภูมิสูงอาจจะทำให้คุณสมบัติทางเคมีเสียไป และอาจจะละลายออกมาปะปนกับอาหารที่บรรจุอยู่ เนื่องจากเป็นการยากที่จะบอกส่วนประกอบหรือชนิดของพลาสติกเมื่อมองจากภายนอก จึงไม่ควรใช้ฟิล์มหรือภาชนะพลาสติกมาใช้กับเตาไมโครเวฟ นอกจากจะได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ควรสอบถามโดยตรงจากผู้ผลิต เซรามิกส์ เซรามิกส์แก้ว พลาสติกบางชนิดและกระดาษสามารถนำมาใช้กับเตาไมโครเวฟได้ จานที่เคลือบด้วยโลหะ เช่น เงินหรือทองไม่ควรนำมาใช้ ถ้าจะใช้ฟอยล์บรรจุอาหารหรืออลูมิเนียมฟอยล์ ควรใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิต ไม่ควรวางฟอยล์บรรจุอาหารหรืออลูมิเนียมฟอยล์สัมผัสกับผนังด้านในของเตาไมโครเวฟ เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดประกายไฟ (spark) ขึ้นได้ |
||
|
||
การตรวจสอบโดยผู้ใช้
ผู้ใช้ควรตรวจสอบตำแหน่งเหล่านี้ก่อนจะนำเตาไมโครเวฟมาใช้
ข้อควรระวังเกี่ยวกับความปลอดภัยทางรังสี การใช้เตาไมโครเวฟควรปฏิบัติตามคู่มือหรือคำแนะนำของผู้ผลิตและข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัยดังนี้
ข้อควรระวังเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยในการใช้เตาไมโครเวฟ
|
||
ถอดความจาก Radiation Emissions from Microwave Ovens เวบไซต์ www.ansto.gov.au |