10 คำถามเกี่ยวกับการฉายรังสีอาหาร

10 คำถามเกี่ยวกับการฉายรังสีอาหาร

1. ทำไมต้องฉายรังสีอาหาร ?
การฉายรังสีอาหาร มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับการใช้ความร้อน การแช่เย็น การแช่แข็ง หรือการใช้สารเคมี เช่น วัตถุกันเสีย เพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อรา หรือแมลง ซึ่งทำให้อาหารเกิดการเน่าเสีย หรือทำให้เกิดโรค และทำให้สามารถเก็บรักษาอาหาร ให้ยาวนานขึ้น และอยู่ในสภาพที่ดีขึ้นการฉายรังสีอาหารสามารถทำลายเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ลดการเกิดโรคเนื่องจากอาหาร บางครั้งโรงพยาบาลจึงใช้วิธีการฉายรังสี เพื่อฆ่าเชื่อโรคในอาหารให้กับผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต่ำ

2. อาหารที่ฉายรังสีแล้วยังมีคุณค่าทางโภชนาการอยู่หรือไม่ ?
อาหารที่ฉายรังสีแล้ว ยังคงมีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ อยู่ครบถ้วนเหมือนเดิม กระบวนการในการเก็บรักษาอาหารทุกวิธี ที่มีการใช้กันอยู่ รวมทั้งการเก็บไว้ที่อุณหภูมิปกติไม่กี่ชั่วโมง ก็ทำให้สารอาหารบางอย่างลดลงไป เช่น วิตามิน การฉายรังสีในปริมาณต่ำ อาจทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลงไปบ้าง แต่ก็น้อยมากจนอาจวัดไม่ได้ หรือวัดได้ในระดับที่ไม่มีนัยสำคัญ ส่วนการฉายรังสีในปริมาณสูง เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา หรือฆ่าเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลงไป ใกล้เคียงกับการปรุงอาหารหรือการแช่แข็ง

3. การฉายรังสีทำให้อาหารมีกัมมันตภาพรังสีหรือไม่ ?
ไม่ กัมมันตภาพรังสีในอาหารเกิดขึ้นได้ 2 ทาง คือ มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหาร หรือมีรังสีพลังงานสูงเข้าไปทำปฏิกิริยากับนิวเคลียสของธาตุในอาหาร
กระบวนการฉายรังสีอาหาร เป็นการนำภาชนะที่บรรจุอาหาร ผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีรังสี ซึ่งไม่มีการสัมผัสกับสารกัมมันตรังสี นอกจากนั้น รังสีที่ใช้ในกระบวนการฉายรังสีอาหาร ไม่สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาที่นิวเคลียสของอะตอมของธาตุอาหารได้

4. การรับประทานอาหารฉายรังสีจะมีอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวหรือไม่?
ไม่ หน่วยงานของรัฐและนักวิทยาศาสตร์ มีการศึกษาวิจัยเป็นจำนวนหลายร้อยโครงการ ถึงผลของอาหารฉายรังสี จนได้ผลสรุปในความปลอดภัย โดยการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอาหารและยาของสหรัฐ หรือ FDA (U.S. Food and Drug Administration) มีข้อแนะนำให้มีการฉายรังสีอาหารโดยเฉพาะในสัตว์ปีก
คณะกรรมการอิสระทางวิทยาศาสตร์ของเดนมาร์ก สวีเดน อังกฤษ และแคนาดา ก็ได้มีการยืนยันถึงความปลอดภัยในอาหารฉายรังสี นอกจากนั้น อาหารฉายรังสี ยังได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organizations) และองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA (International Atomic Energy Agency)

5. การฉายรังสีสามารถทำลายแบคทีเรียได้ทุกชนิด จนทำให้ปลอดเชื้อหรือไม่ ?
การฉายรังสีในระดับปกติที่ใช้กับการถนอมอาหาร สามารถทลายเชื้อโรคได้เกือบหมด แต่อาจไม่อยู่ในสภาพปลอดเชื้อ เนื่องจากอาจมีเชื้อที่เป็นเซลล์เดี่ยวหลงเหลืออยู่
ผู้บริโภคจึงควรใช้ความระมัดระวัง ในการบริโภคอาหารทุกชนิด เช่น การเก็บอาหารแช่เย็น และการปรุงอาหาร ต้องมั่นใจว่าจะไม่เชื้อโรคที่เป็นอันตรายหลงเหลืออยู่
ภายหลังจากการฉายรังสี ถ้ามีการเก็บรักษาอาหารได้ไม่ดี เชื้อโรคที่ทำให้อาหารเน่าเสียที่หลงเหลืออยู่ จะเริ่มแบ่งตัวอีกครั้ง เชื้อที่ทำให้เกิดโรคที่หลงเหลืออยู่ในอาหารฉายรังสี มีอันตรายเช่นเดียวกับเชื้อในอาหารที่ไม่ได้ฉายรังสี
การฉายรังสีอาหารไม่สามารถฆ่าเชื้อที่ทำให้เกิด botulism ได้ แต่จากการศึกษาพบว่า เชื้อที่ทำให้เกิดการเน่าเสียทั้งในอาหารฉายรังสีและอาหารที่ไม่ได้ฉายรังสี จะทำให้เกิดการเน่าเสีย จนผู้บริโภคสังเกตได้ ก่อนที่แบคทีเรียที่ทำให้เกิด botulism จะเจริญจนผลิตสารพิษขึ้นมา6. การฉายรังสีทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในอาหาร หรือทำให้เกิดสารที่ไม่ปรากฏในอาหารที่ไม่ได้ฉายรังสีหรือไม่?
ใช่ การฉายรังสีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในอาหาร สารตัวนี้เรียกว่า “radio-lytic products” อาจจะฟังดูชอบกล แต่ความจริงแล้วไม่เลย นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าอาหารฉายรังสีมีความปลอดภัย ทุกกระบวนการล้วนแต่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ตัวอย่างเช่น การใช้ความร้อน หรือการปรุงอาหารทำให้เกิดสารเคมีที่เรียกว่า “thermolytic products” นักวิทยาศาสตร์พบว่า การฉายรังสีอาหารทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง น้อยกว่าการใช้ความร้อนในการปรุงอาหาร สารที่เกิดขึ้นจากการปรุงอาหาร มีปริมาณสูงพอที่ผู้บริโภคจะสัมผัสได้ จากการได้กลิ่นหรือการชิมรส ขณะที่การตรวจสอบ radiolytic products นักเคมีจะต้องใช้เครื่องมือความไวสูงในห้องปฏิบัติการจึงจะตรวจหาได้


7. จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการได้รับรังสีหรือไม่ ถ้าอาศัยอยู่ใกล้กับโรงงานฉายรังสี?

ไม่ การใช้งานและการขนส่งสารกัมมันตรังสี รวมทั้งการจัดการเกี่ยวกับเครื่องมือทั้งหมด จะได้รับการตรวจสอบโดยคณะกรรมการควบคุมนิวเคลียร์ (Nuclear Regulatory Commission) หน่วยงานของรัฐและกระทรวงคมนาคม (Department of Transportation)
ตัวสารกัมมันตรังสีจะถูกปิดผนึกอยู่ภายในโลหะ 2 ชั้น เพื่อป้องกันการสึกกร่อนและการออกซิเดชัน ขณะทำการขนส่งจะบรรจุอยู่ภายในชั้นของแถวตะกั่ว เพื่อป้องกันการแผ่รังสีแกมมา
อุปกรณ์ที่ใช้ในงานฉายรังสีจะมีระบบความปลอดภัยหลายระดับ เพื่อป้องกันรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อมและผู้ที่ปฏิบัติงาน เมื่อสารรังสีโคบอลต์อยู่ในตำแหน่งที่ถูกเก็บในของเครื่องฉายรังสี จะอยู่ภายในวัสดุป้องกันรังสีใต้ระดับน้ำ เครื่องฉายรังสีจะทำงานด้วยเครื่องควบคุม (remote control) โดยมีระบบป้องกัน ไม่ให้มีคนเข้าไปภายในบริเวณฉายรังสี

8. มีการใช้เทคโนโลยีการฉายรังสีในงานด้านอื่นหรือไม่ ?
นอกจากการใช้ในการรักษามะเร็งแล้ว มีการใช้เทคนิคการฉายรังสีในหลายด้าน เช่น ใช้ในการ ตรวจสอบกระเป๋าที่สนามบิน ทำให้ยางรถยนต์มีความทนทานมากขึ้น ใช้ฆ่าเชื้อโรคในการผลิตปุ๋ย ใช้ในงานเคลือบภาชนะในครัว ใช้ในงานปลอดเชื้อวัสดุทางการแพทย์ เช่น ถุงมือผ่าตัด และใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในเครื่องสำอาง

9. ปัจจุบันมีการวางตลาดอาหารฉายรังสีหรือไม่
ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา มีการวางตลาดเครื่องเทศฉายรังสีแล้ว ในปี 1992 มีสตรอเบอรีฟลอริดาฉายรังสี จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เกตที่รัฐไมอามี มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการฉายรังสีวางจำหน่ายทั่วไป และเริ่มมีเนื้อสัตว์ปีกฉายรังสีจำหน่ายในปี 1993
มีอาหารฉายรังสีมากกว่า 40 ชนิด ที่ได้รับอนุญาตใน 37 ประเทศ ตลาดใหญ่ที่สุดของอาหารฉายรังสี คือ เบลเยียมและฝรั่งเศส ซึ่งมีการฉายรังสีอาหาร ในแต่ละประเทศ ประมาณ 10,000ตันต่อปี และเนเธอร์แลนด์ 20,000 ตันต่อปี

10. เราจะทราบได้อย่างไรว่าอาหารที่วางจำหน่ายชิ้นใดผ่านการฉายรังสี?
อาหารฉายรังสี ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยการดู การดมกลิ่น ชิมรส หรือใช้ความรู้สึก อาหารฉายรังสีจะมีฉลากที่มีสัญลักษณ์ติดอยู่กับข้อความ ผ่านการฉายรังสี (“Treated with Radiation” or “Treated by Irradiation”)

ถอดความจาก Ten Most Commonly Asked Questions About Food Irradiation
Food Fact Safety Sheet
เว็บไซต์ www.umich.edu
ข่าวสารเพิ่มเติม