ภาษานิวเคลียร์วันละคำ

ภาษานิวเคลียร์วันละคำ

ดร.สมพร จองคำ
นายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย

  1. อะตอม คือ หน่วยที่เล็กที่สุด ที่ยังคงสมบัติทางเคมีของธาตุ โครงสร้างของอะตอมประกอบด้วย นิวเคลียสอยู่ตรงกลาง และมีอิเล็กตรอนโคจรรอบนิวเคลียส อะตอมอาจอยู่เป็นธาตุเดี่ยวเดี่ยว เช่น ธาตุเงิน หรือธาตุทอง หรือรวมตัวกับธาตุอื่น เป็นสารประกอบ เช่น น้ำ ประกอบด้วยอะตอมของไฮโดรเจน กับออกซิเจน ตัวอย่างอะตอมของธาตุ หมายเลข 2, 3 และ 4 คือ ธาตุไฮโดรเจน ธาตุฮีเลียม ธาตุลิเทียม และธาตุโบรอน ตามลำดับ

  2. นิวเคลียส คือ แกนกลางของอะตอม เป็นที่รวมมวลส่วนใหญ่ของอะตอม นิวเคลียสประกอบด้วยโปรตอน และนิวตรอน ในสภาพปกติ อะตอมจะมีจำนวนอิเล็กตรอน เท่ากับโปรตอน โดยที่ จำนวนของโปรตอน หมายความถึง หมายเลขของอะตอม ตัวอย่างเช่น หมายเลข 1, 2, 3, 4 จะมีจำนวนโปรตอนเป็น 1, 2, 3 และ 4 ตัวตามลำดับ

  3. ไอโซโทป คือ นิวเคลียสของธาตุชนิดเดียวกัน มีจำนวนโปรตอนเท่ากัน แต่มีจำนวนนิวตรอนต่างกัน ตัวอย่างเช่น ธาตุไฮโดรเจน มีไอโซโทปอยู่ 3 ชนิด คือ ไฮโดรเจน-1 ไฮโดรเจน-2 และไฮโดรเจน-3 ซึ่งมีจำนวนโปรตอน 1 ตัวเท่ากัน แต่มีนิวตรอนจำนวน 0,1 และ 2 ตัว ตามลำดับ

  4. สารกัมมันตรังสี หรือไอโซโทปรังสี คือ สารหรือไอโซโทปของธาตุบางชนิด มีการสลายตัว และปลดปล่อยรังสีชนิดต่างๆ ออกมา ตัวอย่างเช่น ไอโซโทปคาร์บอน-12 มีสภาพเสถียร ไม่สลายตัว แต่ไอโซโทปคาร์บอน-14 จะสลายตัว ให้รังสีบีตาออกมา

  5. กัมมันตภาพรังสี คือ ปรากฏการณ์ ที่สารกัมมันตรังสีสลายตัว และมีการปลดปล่อยรังสี ออกจากนิวเคลียส เช่น รังสีอัลฟา บีตา และแกมมา

  6. รังสี คือ แสง หรือแสงสว่าง ที่เปล่งออกมา รอบตัวทุกทิศทาง รังสีที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้ คือ แสงสว่าง และรังสีความร้อน ส่วนรังสีที่เรา ไม่สามารถสัมผัสได้ คือ รังสีเหนือม่วง รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา ซึ่งเป็นรังสีที่เป็นอันตราย โดยตรงต่อมนุษย์ เนื่องจากรังสีเหล่านี้ มีพลังงานสูง และรังสีที่มีพลังงานต่ำ ได้แก่ คลื่นวิทยุ คลื่นเรดาร์ คลื่นไมโคร และคลื่นโทรทัศน์ รังสีจะรวมถึงอนุภาค เช่น รังสีอัลฟา บีตาและนิวตรอน

  7. รังสีแม่เหล็กไฟฟ้า คือ คลื่นไฟฟ้า และคลื่นแม่เหล็ก ที่ประสาน และมีอันตรกิริยาต่อกัน เช่น คลื่นแสง คลื่นวิทยุ รังสีแกมมา และรังสีเอกซ์ รังสีเหล่านี้ เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว เท่ากับความเร็วแสง และสามารถผ่านสูญญากาศได้

  8. รังสีชนิดก่อไอออน คือ รังสี หรืออนุภาคใดๆ ที่สามารถก่อให้เกิด การแตกตัวเป็นไอออนได้ ทั้งโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อม ในตัวกลางที่ผ่านไป เช่น รังสีอัลฟา รังสีบีตา รังสีแกมมา รังสีเอกซ์ อนุภาคนิวตรอน อิเล็กตรอนที่มีความเร็วสูง โปรตอนที่มีความเร็วสูง รังสีเหล่านี้ ทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อ ของสิ่งมีชีวิต

  9. พลังงานนิวเคลียร์ คือ พลังงานไม่ว่าในลักษณะใด ที่ปลดปล่อยออกมา เมื่อมีการแยก รวม หรือ แปลง นิวเคลียสของอะตอม หรือ พลังงานรังสีเอกซ์ คำที่ใช้แทนกันได้ คือ “พลังงานปรมาณู”

  10. การฉายรังสีอาหาร คือ การนำอาหารที่บรรจุในภาชนะ หรือหีบห่อ ไปผ่านการฉายรังสีแกมมา หรือรังสีเอกซ์ หรืออิเล็กตรอน ในห้องกำบังรังสี ในปริมาณรังสีที่เหมาะสม เพื่อฆ่าเชื้อโรค หรือพยาธิ ยับยั้งการทำลาย และแพร่พันธุ์ของแมลง ยืดอายุการเก็บรักษา ยับยั้งการงอก และชะลอการสุก เป็นต้น

ข่าวสารเพิ่มเติม