พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)

พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)

สหประชาชาติได้พยายามแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยประกาศข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกของสหประชาชาติ (United National Framework Convention on Climate Change, UNCCC) ซึ่งได้มีการเจรจากันครั้งแรกที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนธันวาคม 1997 ซึ่งเรียกกันว่า พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)

พิธีสารเกียวโต เปิดให้ประเทศต่างๆ ลงนามกันในระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 1998 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 1999 แต่ข้อตกลงดังกล่าว เพิ่งมีผลบังคับเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2005 หลังจากการให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการ ของประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2004 และจะมีผลบังคับใช้จนถึงปี 2012

พิธีสารเกียวโต เป็นมาตรการทางกฏหมาย ที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย ในการรับมือกับภาวะโลกร้อน ประเทศที่ให้สัตยาบันในพิธีสารนี้ จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ โอโซน มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) ซึ่งคาดกันว่า หากได้รับการนำไปปฏิบัติ และประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ จะสามารถลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ได้ถึงประมาณ 0.02-0.028 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050

ปัจจุบัน ข้อตกลงนี้ ได้รับการให้สัตยาบันแล้วจาก 127 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และชาติสมาชิกสหภาพยุโรปอีก 25 ประเทศ รวมทั้งโรมาเนียมและบัลเกเรีย โดยคิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ของที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

ส่วนใหญ่ของประเทศอุตสาหกรรมได้ให้สัตยาบัน แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด กลับต่อต้านพิธีสารเกียวโต เพราะเชื่อว่ากระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา: คอลัมน์ ไลฟ์&เทค หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม 2548 หน้า 19
โดย บัณฑิต คงอินทร์
ข่าวสารเพิ่มเติม