พลังงานนิวเคลียร์ในอังกฤษ

พลังงานนิวเคลียร์ในอังกฤษ
(nuclear power in the UK)

บทนำ

พลังงานนิวเคลียร์กลับเข้าสู่วาระการพิจารณาของอังกฤษอีกครั้ง

อังกฤษใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานปรมาณู 20% แต่คาดว่า ภายในปี 2023 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งหมดจะปิดลง

ไม่มีการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขึ้นใหม่ ตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุ ในปี 1980 ค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการรื้อถอนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และปัญหาที่แก้ไม่ตกเรื่องกากนิวเคลียร์ เป็นจุดสนใจของประชาชน ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่บั่นทอนรัฐบาล

ปัญหาการขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซ การลดลงของปริมาณสำรองของแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล ความกดดันในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ ทำให้มีหลายฝ่ายออกมาสนับสนุนให้มีการพิจารณา เรื่องของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่

รัฐบาลได้ชี้แจงว่า มีความตั้งใจที่จะจัดพิมพ์ข้อเสนอ เรื่องอนาคตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ให้ประชาชนลงประชามติ ในปี 2006

รายละเอียดและสถานที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ของอังกฤษ
พลังงานนิวเคลียร์ทำงานอย่างไรพลังงานปรมาณูเกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ซึ่งอะตอมของธาตุแตกออก แล้วปล่อยพลังงานออกมา ซึ่งอะตอมของธาตุบางชนิดเท่านั้นที่เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันได้ (fissionable) ธาตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และนำมาใช้มากที่สุด คือโลหะยูเรเนียม ซึ่งเป็นธาตุในธรรมชาติที่ไม่เสถียร

ยูเรเนียมมีหลายชนิด หรือหลายไอโซโทป ยูเรเนียม-235 เป็นไอโซโทปที่เกิดฟิชชันได้ง่ายที่สุด แต่ในยูเรเนียมตามธรรมชาติ 1,000 อะตอม มียูเรเนียม-235 อยู่เพียง 7 อะตอม เท่านั้น

ยูเรเนียม-235 ที่ถูกยิงด้วยนิวตรอน ไม่ได้แตกออกเท่านั้น แต่ยังให้นิวตรอนออกมา 2-3 นิวตรอนด้วย ซึ่งจะเข้าชนอะตอมของยูเรเนียม-235 อะตอมอื่น ทำให้เกิดปฏิกิริยาเพิ่มมากขึ้นเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้ามีปริมาณยูเรเนียม-235 ความเข้มข้นสูงพอ

กระบวนการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันต่อเนื่อง

1.
นิวตรอนเข้าชนนิวเคลียสที่ไม่เสถียร ของยูเรเนียม-235
2.
นิวเคลียสแตกออก และให้พลังงานจำนวนมากออกมา
3.
มีนิวตรอนเกิดจากปฏิกิริยาเพิ่มขึ้น
4.
นิวตรอนใหม่เข้าชนนิวเคลียสของอะตอมอื่นๆ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่อง
เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ภายในโรงไฟฟ้า ทำหน้าที่ควบคุมการเกิดปฏิกิริยา ให้อยู่ในระดับที่กำหนด และให้พลังงานความร้อนออกมา ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (nuclear fuel) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ยูเรเนียม ที่เพิ่มระดับความเข้มข้น (enrich) ของอะตอมของยูเรเนียม-235 จะถูกจัดเรียงไว้ภายในแกนของเครื่องปฏิกรณ์ (reactor core)

ปฏิกิริยาฟิชชันจะเกิดได้ดี ถ้านิวตรอนอิสระที่เข้าทำปฏิกิริยากับยูเรเนียมมีความเร็วต่ำ แท่งเชื้อเพลิงจึงถูกจัดเรียงไว้ภายในสารที่เรียกว่า สารหน่วงนิวตรอน (moderator) ซึ่งจะลดความเร็วของนิวตรอนลง
เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ส่วนใหญ่ อย่างเช่น เครื่องปฏิกรณ์แบบใช้น้ำความดันสูง (pressurised water reactor) ใช้น้ำในการระบายความร้อน (coolant) และใช้เป็นสารหน่วงนิวตรอนในเวลาเดียวกัน

น้ำทำหน้าที่เป็นตัวพาพลังงานความร้อนจากแกนเครื่องปฏิกรณ์ เพื่อนำไปใช้ในการผลิตไอน้ำ (steam) ที่นำไปปั่นกังหัน (turbines) ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

การรักษาระดับของปฏิกิริยาให้คงที่ จะต้องทำให้แต่ละอะตอมที่แตกออกจากการเกิดปฏิกิริยาฟิชชัน มีเพียง 1 นิวตรอน ที่ไปทำให้เกิดฟิชชันกับอะตอมอื่น การควบคุมนี้ ใช้แท่งควบคุม (control rods) ที่ทำจากวัสดุบางชนิด เช่น แคดเมียม หรือโบรอน ซึ่งจะดูดกลืนนิวตรอนบางส่วน ที่เกิดจากปฏิกิริยาฟิชชัน แท่งควบคุมจึงสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิชชันมากขึ้นโดยดูดกลืนนิวตรอนให้น้อยลง หรือทำให้เกิดฟิชชันน้อยลงโดยดูดกลืนนิวตรอนออกไปมากขึ้น

โครงสร้างและส่วนประกอบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบใช้น้ำความดันสูง
เครื่องปฏิกรณ์ถูกครอบด้วยชั้นของคอนกรีตแบบหนักพิเศษ (heavy concrete) ซึ่งสามารถป้องกันรังสี ไม่ให้ออกไปสู่สิ่งแวดล้อม

เครื่องปฏิกรณ์แบบใหม่ได้รับการออกแบบ ให้ดับเครื่องเองถ้าอยู่นอกการควบคุม สภาวะที่ทำให้เครื่องปฏิกรณ์ทำงานได้ ในระหว่างที่เดินเครื่องต้องมีการโต้ตอบกับผู้ควบคุมตลอดเวลา ด้วยช่วงเวลาที่คงที่ ซึ่งแตกต่างจากเครื่องปฏิกรณ์ฯ ที่เชอร์โนบิล (Chernobyl reactor) ที่ใช้ระบบการโต้ตอบเพื่อทำให้การเกิดปฏิกิริยาอยู่ภายใต้การควบคุม

กากนิวเคลียร์ (Nuclear waste)

กากกัมมันตรังสีเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งที่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ต้องเผชิญ

สิ่งที่ทำให้เกิดความวิตกกันมากที่สุด คือกากนิวเคลียร์บางส่วนเป็นกากรังสีระดับสูง (high-level waste) ซึ่งเป็นกากที่มีกัมมันตภาพรังสี มีการให้ความร้อนออกมา มีการกัดกร่อนภาชนะบรรจุ และสามารถทำให้คนที่ได้รับรังสีโดยตรง เสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่วัน

กากนิวเคลียร์ที่มีระดับรังสีสูง มีปริมาณไม่มาก ที่อังกฤษมีกากนิวเคลียร์ชนิดนี้น้อยกว่า 0.3% ของปริมาณกากนิวเคลียร์ทั้งหมด แต่มีกัมมันตภาพรังสีรวมประมาณครึ่งหนึ่ง

กากนิวเคลียร์ที่มีระดับรังสีสูง จะใช้เวลาประมาณ 10,000 ปี ในการลดกัมมันตภาพรังสี ลงมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ซึ่งไม่มีภาชนะที่ใช้บรรจุชนิดใด ที่เราทำขึ้นมาจะมีอายุยาวนานขนาดนั้น

ปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศใดที่มีการแก้ปัญหานี้ในระยะยาวได้ แม้ว่า สหรัฐอเมริกาและฟินแลนด์ จะวางแผนในการสร้างสถานที่เก็บไว้ใต้พื้นดินระดับลึก ในพื้นที่ที่มีเสถียรภาพทางธรณีวิทยา ซึ่งอังกฤษก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงการแก้ปัญหานี้อยู่

เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วซึ่งมีรังสีระดับสูงและมีความร้อนสูง ในช่วงต้นจะเก็บไว้ในบ่อน้ำ จากนั้นจะผนึกในถังสเตนเลส ฝังลงใต้ดินในบริเวณที่คัดเลือกและออกแบบไว้ไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะเวลายาวนาน
เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วมีกัมมันตภาพรังสีสูง แต่สามารถนำกลับมาเข้ากระบวนการเพื่อแยกพลูโตเนียม และยูเรเนียมที่เหลืออยู่ออกมา กระบวนการนี้จะทำให้ลดความต้องการยูเรเนียมจากการทำเหมือง และลดปริมาณกากนิวเคลียร์ลงได้

ในประเทศที่นำกากนิวเคลียร์กลับมาเข้ากระบวนการ (reprocessing) กากที่รังสีระดับสูง (high-level radioactive waste) จะมีการแยกยูเรเนียมกับพลูโตเนียมออกไปแล้ว ส่วนในอังกฤษมีกระบวนการในเรื่องนี้ดังรูปด้านบน

ในประเทศเหล่านี้ เชื้อเพลิงใช้แล้ว ยูเรเนียม และพลูโตเนียม ไม่ถือเป็นกากนิวเคลียร์ เนื่องจากยังสามารถนำมาใช้ได้ แต่ยังคงต้องเก็บไว้ในลักษณะเดียวกับกากนิวเคลียร์ โดยต้องเพิ่มการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากพลูโตเนียมสามารถนำไปใช้ในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้

ถ้าไม่มีการนำกลับมาเข้ากระบวนการใหม่ เชื้อเพลิงใช้แล้วจะกลายเป็นกากที่มีรังสีระดับสูง ส่วนกากที่มีรังสีระดับปานกลางจะผสมกับคอนกรีตและบรรจุลงถัง เพื่อเก็บไว้ในสถานที่ออกแบบก่อสร้างไว้

เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว เก็บไว้ในบ่อที่ทำความเย็น ที่ Sellafield ประเทศอังกฤษ
ถ้าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในอังกฤษใช้งานอยู่จนถึงกำหนดการปิดตัว โดยไม่มีการสร้างเครื่องปฏิกรณ์เพิ่มขึ้น จะมีกากที่มีรังสีระดับปานกลางและกากที่มีรังสีระดับสูงในอังกฤษ ประมาณ 36,590 ลูกบาศก์เมตร เท่ากับพื้นที่สระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก 14 สระ

กากที่มีรังสีระดับต่ำเกือบทั้งหมดของประเทศ จะบรรจุและผนึกกากไว้ในถังคอนกรีต และเก็บไว้ในโรงเก็บที่ออกแบบก่อสร้างไว้โดยเฉพาะที่ Drigg, Cumbria โดย บางคนกล่าวว่า พื้นที่เก็บกากนี้มีความปลอดภัยและสามารถเข้าไปได้

ปัจจุบัน Drigg เก็บกากรังสีเอาไว้ 960,000 ลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับสระขนาดโอลิมปิก 384 สระ

ปริมาณเชื้อเพลิงและกากนิวเคลียร์ของอังกฤษ
สีน้ำเงิน: กัมมันตภาพรังสี    สีแดง: ปริมาตร
1.
กากที่มีรังสีระดับสูง ซึ่งจะนำเข้ากระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่
2.
เชื้อเพลิงใช้แล้ว ซึ่งเป็นส่วนผสมของยูเรเนียม พลูโตเนียม และผลผลิตฟิชชัน (fission products)
3.
พลูโตเนียม ธาตุกัมมันตรังสี เกิดจากปฏิกิริยาฟิชชันของยูเรเนียม สามารถนำไปใช้ทำระเบิดได้
4.
กากรังสีระดับปานกลาง เช่น ปลอกหุ้มแท่งเชื้อเพลิง ส่วนประกอบของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์
5.
ยูเรเนียม ธาตุกัมมันตรังสี ที่ใช้ทำเชื้อเพลิงในเครื่องปฏิกรณ์ ต้องเพิ่มความเข้มข้น (enrich) โดยใช้เทคโนโลยีระดับสูง ในการนำไปใช้ทำระเบิด

งบประมาณ (Cost)

งบต้นทุนของพลังงานนิวเคลียร์มีความแปรปรวนมาก มีหลายหน่วยงานพยายามที่จะหาราคาค่ากระแสไฟฟ้า จากพลังงานนิวเคลียร์เป็นกิโลวัตต์ชั่วโมง (kilowatt hour, kWh) โดยคำนวณจากงบค่าก่อสร้าง งบประมาณในการเดินเครื่อง และงบประมาณในการรื้อถอน (decommissioning) การใช้โรงไฟฟ้า

Royal Academy of Engineers ได้เสนอตัวเลขจากการผลิตด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบใหม่ โดยมองภาพที่ค่อนข้างดี ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการที่เสนอจากกลุ่มอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ก๊าซและพลังงานลมของอังกฤษ
ในปี 2002 รัฐบาลอังกฤษได้รายงานว่า พลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Sizewell B ซึ่งเป็นเครื่องปฏิกรณ์ที่สร้างขึ้นมาเครื่องล่าสุด มีต้นทุน 6p/kWH

ในรายงานได้ประมาณว่า ในปี 2020 ต้นทุนจะลดลงเหลือ 3-4p/kWh แม้ว่า the New Economics Foundation ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านนิวเคลียร์ (anti-nuclear) จะกล่าวว่า ตัวเลขนี้ต่ำเกินไปมาก ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงเป็น 2 เท่า

ความแปรปรวนเหล่านี้ เนื่องมาจาก มีต้นทุนหลายประเภทที่ประมาณการได้ยาก เท่าที่ผ่านมาต้นทุนค่าก่อสร้างมักจะสูงกว่างบประมาณที่ตั้งเอาไว้ และเมื่อสิ้นสุดโครงการ การรื้อถอนเครื่องปฏิกรณ์ก็มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งคาดกันว่า การพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้น จะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ทั้งสองกรณี

การประกันภัยและการหาค่าโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ มีตัวแปรที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น การจัดการกากรังสีระยะยาว ซึ่งคำนวณค่าใช้จ่ายได้ยากและไม่สามารถทราบได้ว่างบประมาณจะสิ้นสุดเมื่อใด

จากตัวอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบันและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เพิ่งผ่านมา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องกำหนดวงเงินงบประมาณในการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่ยืดหยุ่น โดยมีขนาดใหญ่และมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูง ซึ่งแตกต่างจากการใช้กังหันลม (wind farm) ที่ลงทุนต่ำและให้กระแสไฟฟ้าออกมาต่ำกว่า

But there are many other costs to take into consideration as well as construction.

สิ่งที่แน่นอนคืองบลงทุนรวมทั้งงบประมาณในการถอนเครื่องปฏิกรณ์ มีค่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีแบบอื่น เมื่อเทียบกันแล้ว ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

ทำให้เห็นว่า พลังงานนิวเคลียร์มีการลงทุนตอนเริ่มต้นที่สูงมาก แต่ไม่มีความผันแปรเรื่องราคาเชื้อเพลิงยูเรเนียม ซึ่งแตกต่างจากการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซ น้ำมัน หรือถ่านหิน ที่มีราคาขึ้นลงตลอดเวลา
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากมีราคาสูง ทำให้ไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ขึ้นมาเลย

แต่ในปัจจุบัน เริ่มมีคนหันมาสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากน้ำมันและก๊าซราคาสูงขึ้น

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ดูเหมือนจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ถ้าพิจารณาในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามที่ the Royal Academy of Engineers ได้ประมาณการไว้

เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา แต่ถ้านับรวมก๊าซที่ปลดปล่อยออกมาในขั้นตอนการทำเหมืองยูเรเนียม อาคารอื่นของโรงไฟฟ้า และการจัดการกากรังสี ทั้งหมดก็ยังน้อยกว่าก๊าซจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลมาก

ราคาคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ก๊าซ และพลังงานลมของอังกฤษ
ตารางเปรียบเทียบแหล่งพลังงานที่อังกฤษใช้เป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบัน หรือในอนาคตอันใกล้
สัดส่วนการใช้ %
ข้อดี
ข้อเสีย
อนาคต
ก๊าซ
40
เชื่อมั่นได้ สะอาดกว่าและปล่อยก๊าซ C02 ออกมาน้อยกว่าถ่านหิน ราคาถูกมากในทศวรรษ 1990 ทำให้มีการใช้เพิ่มขึ้นมาก อังกฤษมีแหล่งสำรองในทะเลเหนือ มีการปล่อยก๊าซ CO2 ออกมาด้วย แหล่งปริมาณสำรองเริ่มลดลง ทำให้ต้องพึ่งการนำเข้า หมายความว่ามีโอกาสที่ราคาจะสูงขึ้น การผลิตที่ต้องใช้ก๊าซจึงไม่มีเสถียรภาพในเรื่องราคา คาดว่าในอนาคตยังมีความเชื่อมั่นได้ต่อไป โดยเพิ่มการนำเข้า เลขาฯ กระทรวงการค้ากล่าวว่า ปัจจุบันอังกฤษเป็นประเทศนำเข้าก๊าซแล้ว
ถ่านหิน
33
มีความแน่นอน ราคาถูก เชื่อมั่นได้ อังกฤษมีแหล่งสำรองมาก มีราคาสูงขึ้น แต่น้อยกว่าก๊าซและน้ำมัน การปล่อยก๊าซ SO2 ซึ่งทำให้เกิดฝนกรดจะทำให้มีการใช้ลดลงภายใน 20 ปีนี้ ปล่อยก๊าซ CO2 และ SO2 ออกมามาก อุตสาหกรรมถ่านหินของอังกฤษจะถดถอยและหมดลงในอีก 10-15 ปี และทำให้มีราคาสูง โดยครึ่งหนึ่งของการใช้จะต้องนำเข้า รัฐบาลกล่าวว่า ถ่านหินมีความสำคัญ โดยมีแผนที่จะลงทุนในการใช้เทคโนโลยีที่สะอาด และการกรองจับคาร์บอน กฎใหม่ด้านมลภาวะของ EU จะบังคับให้มีการปรับปรุงหรือปิดโรงงาน
นิวเคลียร์
20
หลังจากก่อสร้างเสร็จแล้ว มีการปล่อย C02 ออกมาน้อยที่สุด ให้ประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นสูง ราคาเชื้อเพลิงไม่มีการแกว่งตัวดังเช่นน้ำมันและก๊าซ ต้นทุนการก่อสร้างและการรื้อถอนเครื่องปฏิกรณ์ ปัญหาเรื่องกากนิวเคลียร์ และเรื่องความปลอดภัย การวางแผนและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งจะไม่ทันกับเป้าหมายของพิธีสารเกียวโต โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของอังกฤษ ที่ใช้อยู่ทั้งหมดในปัจจุบัน จะหมดอายุในปี 2023 คาดว่าจะมีการลงประชามติในปี 2006
น้ำ
>2
ไม่ปล่อยก๊าซ CO2 ไม่มีความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง หรือความั่นคงทางการเมือง ราคาถูกมากเมื่อสร้างเขื่อนเสร็จแล้ว ปริมาณน้ำธรรมชาติขึ้นกับปริมาณน้ำฝน การสูบน้ำคืนกลับไปเก็บบนเขา ขึ้นกับ off-peak ของการใช้ไฟฟ้า การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อังกฤษมีการใช้พลังงานน้ำที่มีศักยภาพไปมากแล้ว การทำโครงการขนาดใหญ่ในอนาคตไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่อาจทำโครงการขนาดเล็กเพิ่มขึ้นได้
ก๊าซใต้พื้นดิน
1.2
ก๊าซมีเทนที่ออกมาจากใต้พื้นดิน ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงเป็น 20 เท่าของ C02 การเผาก๊าซเหล่านี้จึงเป็นการลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การเผาก๊าซมีเทน ยังคงทำให้เกิดก๊าซ C0และ NO2 ตามมา มีการใช้งานอยู่แล้ว แต่อาจถูกจำกัดการใช้ในอนาคต ถ้ากฎหมายการลดมลภาวะมีการบังคับใช้
น้ำมัน
1.2
เป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมั่นได้ มีการใช้งานได้ดีแล้วในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไม่สูง ราคาไม่แน่นอน ขึ้นกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ปล่อยก๊าซ CO2 ภายในปี 2010 อังกฤษจะกลายเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน อังกฤษมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันน้อย แต่เป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในยานพาหนะ
เชื้อเพลิงชีวภาพ
0.6
พลังงานจากผลิตผลทางการเกษตรถือว่ามีสมดุลของคาร์บอน เนื่องจากคาร์บอน ที่ปล่อยออกมาจากการถูกเผาไหม้ สมดุลกับคาร์บอน ที่พืชดูดไปจากบรรยากาศ ขณะกำลังเจริญเติบโต พืชที่เหมาะสม มีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมากในอังกฤษ ต้องใช้พื้นที่มากในการเพาะปลูก มีผลกระทบต่อทัศนียภาพ การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีละอองฝุ่นและไฮโดรคาร์บอนปล่อยออกมา มีอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงาน จากการเผาไหม้ ของเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ไม้และฟางจำนวนน้อย พลังงานจากผลิตผลเกษตร สามารถเติบโตได้อีก แต่พืชบางชนิด อาจจะให้ผลตอบแทน ที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
ลม
0.5
เป็นพลังงานหมุนเวียน ไม่มีความผันผวนจากราคาเชื้อเพลิง บางคนกล่าวว่า อังกฤษมีแหล่งของลมที่ดีที่สุด พัดมาจากยุโรป กังหันไม่มีการปล่อยก๊าซ และสามารถติดตั้งได้ในเวลาอันสั้น มีการคัดค้านจากคนในพื้นที่ เนื่อจากส่งเสียงดังรบกวน ทำลายทัศนียภาพ มีราคาสูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล และระดับของกระแสลมไม่มีความแน่นอน พลังงานหมุนเวียน มีการเติบโตมากที่สุดในอังกฤษ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เห็นได้จากการตั้งเป้าที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 20% ในปี 2020 ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่ำลง
แสงอาทิตย์
>0.1
เป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เสียค่าเชื้อเพลิง สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ (photovoltaic cells) สามารถใช้ทำน้ำร้อนได้โดยตรง ทำให้ประหยัดพลังงานได้ในอาคารที่ออกแบบมาอย่างดี แสงอาทิตย์ในอังกฤษมีจำกัดและไม่แน่นอน พลังงานแสงอาทิตย์ถูกจำกัดให้ใช้ได้แต่ช่วงกลางวัน หรือต้องเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี ประสิทธิภาพยังต่ำแต่กำลังมีการพัฒนา รัฐบาลคาดว่า แสงอาทิตย์จะแข่งขันเรื่องราคาได้ในปี 2020-2030 และจะมีราคาถูกลง ถ้าได้รับการออกแบบรวม ในอาคารที่สร้างใหม่
คลื่นและน้ำขึ้นน้ำลง
>0.5
เป็นพลังงานหมุนเวียน ที่รัฐบาลอังกฤษสนับสนุน มีต้นทุนสูง และทำให้สิ่งแวดล้อม การขึ้นลงของน้ำเปลี่ยแปลงไป พลังงานคลื่นมีการพัฒนาช้ากว่าพลังงานลม 10 ปี พลังงานจากน้ำขึ้นน้ำลง ในอังกฤษยังอยู่ในระยะของการวิจัย การลงทุนขนาดใหญ่ ต้องใช้คลื่นจากมหาสมุทร จึงจะเพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานของอังกฤษ
*ข้อมูลกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ปี 2004/2005
ถอดความจาก In depth: Nuclear explained
เวบไซต์ news.bbc.co.uk
ข่าวสารเพิ่มเติม