โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจีน
มนูญ ศิริวรรณ
12 ธ.ค. 2562
จากคอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” ในนสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 12 ธ.ค. 2562
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจีน
ผมได้มีโอกาสร่วมคณะกับทางสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย โดยมีท่านนายกสมาคม รศ.พล.ต.ดร.ชัยณรงค์ เชิดชู เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปดูงานเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของจีน เมื่อวันที่ 20-23 พ.ย. ที่ผ่านมา พบว่ามีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่องที่ควรนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของจีนที่เราเดินทางไปเยี่ยมชมในครั้งนี้ เป็นโรงไฟฟ้าของบริษัท Guangxi Fangchenggang Nuclear Power ตั้งอยู่ที่เมือง Fangchenggang ซึ่งเป็นเมืองชายทะเล ในมณฑลกว่างสี เป็นเมืองชายแดนที่อยู่ติดกับเวียตนาม และตัวโรงไฟฟ้าก็อยู่ห่างจากเขตแดนเวียตนามเพียง 40 กว่าก.ม.เท่านั้น
โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นบริษัทลูกของ China General Nuclear Power Corporation (CGN) ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของรัฐวิสาหกิจของจีนที่ทำกิจการด้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดย CGN ถือหุ้น 61% ในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ และอีก 39% ถือโดยบริษัท Guangxi Investment Group ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านการลงทุนของรัฐบาลมณฑลกว่างสี
CGN นั้นถือเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของจีนเลยทีเดียว เพราะในขณะที่จีนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ทั้งหมดประมาณ 50 โรง (รวมทั้งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างด้วย) มีกำลังการผลิต 53,600 MW CGN มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด (ณ สิ้นเดือน ก.ค. ปีนี้) อยู่ที่ 23 โรง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 25,390 MW และมีอีก 5 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีกำลังการผลิตที่ 6,350 (ซึ่งอีก 2 โรงที่กำลังก่อสร้างก็อยู่ที่ Fangchenggang นี่เอง)
ดังนั้นรวมแล้ว CGN จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากกว่าครึ่งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดที่จีนมีอยู่ทั่วประเทศในขณะนี้
แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่จำนวนของโรงไฟฟ้าว่ามีมากหรือน้อย แต่กลับเป็นเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จีนสามารถพัฒนาขึ้นเอง จนได้มาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ถึงขนาดประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ ยังเชิญ CGN ไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้
ในส่วนของ CGN ก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ของตนเองขึ้นมาเรียกว่า HPR1000: Chinese Gen 3 nuclear power technology สำหรับใช้กับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ unit 3,4 ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใน Gen. 3 ในขณะที่โรง 1,2 ที่เปิดทำการอยู่ในขณะนี้ เป็น Gen. 2.5 ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นที่ฟุกุชิมะ ซึ่งประสบอุบัติเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามินั้นเป็นแบบ Gen. 2
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Gen. 3 ดีอย่างไร เอาไว้สัปดาห์หน้ามาเล่าให้ฟังครับ !!!
มนูญ ศิริวรรณ
12 ธ.ค. 2562
จากคอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” ในนสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 12 ธ.ค. 2562