บทความ มนุษย์ทองคำ โดย วัชระ นูมหันต์ – 8 ธันวาคม 2562

Vatchara’s Blog

Vatchara
Posted on December 8, 2019


มนุษย์ทองคำ

คนเรา ถ้าต้องทำอะไรที่ต้องอึด อดทน หรือแข็งแรงอย่างมาก ฝรั่งจะเรียกว่าเป็นพวก “มนุษย์เหล็ก” (iron man)

แต่ในเมืองจีน มีกลุ่มคนอีกพวกหนึ่งที่หน่วยงานต้องทุ่มเงินเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล เหมือนกับ “เสียทองเท่าหัว” ในการฝึกฝนและคัดเลือกเพื่อที่จะได้กลุ่มคนที่พิเศษ มาทำงานที่พิเศษ จึงเรียกว่าพวก “มนุษย์ทองคำ” (golden people)

ส่วนในเมืองไทย การ “เสียทองเท่าหัว” กลายเป็นเรื่องของการอนุรักษ์ ไม่ยอมเสียผู้นำบุคลากรเพศชายในครัวเรือน ไปเสียนี่ (เป็นคำโบราณ แต่ปัจจุบันอาจจะตรงกันข้าม)

คนพิเศษ และงานพิเศษ ดังกล่าวนั้น คือ พนักงานเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ปรมาณูของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (nuclear power plant, reactor operator) ที่ทำงานอยู่ในห้องควบคุมโรงไฟฟ้า (control room) เมืองไทยเรายังไม่มีครับ มีแต่พนักงานเดินเครื่องโรงไฟฟ้าธรรมดา

ถ้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือร่างกาย ส่วนที่สำคัญที่สุดของร่างกายคนเรา ที่ควบคุมอวัยวะทั้งหมด คือ หัวสมอง ดังนั้น ห้องที่ควบคุมโรงไฟฟ้าทั้งหมด (control room) ที่เปรียบเสมือนหัวสมองของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงสำคัญที่สุด แน่นอนว่าเป็นเขตหวงห้ามอย่างที่สุดเช่นกัน ซึ่งเข้มงวดมากกว่าโรงไฟฟ้าธรรมดาหลายเท่า ถ้ากำลังเดินเครื่องอยู่ คนทั่วไปไม่มีโอกาสเข้าไปข้างในได้แน่นอน

ดังนั้น การไปดูงานโรงไฟฟ้าธรรมดาทั่วไป อาจมีโอกาสเข้าไปเดินในห้องควบคุมได้ แต่ไม่ใช่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งอย่างมากที่สุดที่เขาจะยอมให้เข้าไปดูได้คือ ห้องควบคุมโรงไฟฟ้าจำลอง (replica control room simulator)

มีคำว่า “จำลอง” ด้วย อย่านึกว่าเป็นแค่ “model” หรือ “ดูเหมือน” ห้องควบคุมโรงไฟฟ้าจริงเท่านั้น เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะสร้างห้องนี้เพียงเพื่อเอาไว้รับแขก เพราะดูจะมากเกินไปหน่อยในการที่จะลงทุนอีกหลายร้อยล้านไว้แค่ให้คนมาดู แท้ที่จริงเขาสร้างห้องนี้ ไว้ใช้งานครับ คือใช้ฝึกพนักงานเดินเครื่อง โดยการสร้างห้องควบคุมที่เหมือนที่ใช้ในโรงไฟฟ้าจริง แต่ “simulate” หรือจำลองการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์

ห้อง simulator ดังกล่าว ชื่อทางการมันยาวไป ไทยเราจึงชอบเรียกสั้นๆว่า ห้อง sim

ห้อง sim ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ FangChengGang Nuclear Power Plant (FCGNP) ที่ประเทศจีน ที่สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย จัด trip พิเศษไปดูงานเมื่อ เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถึงแม้จะไม่ได้เห็นอะไรมากเพราะต้องรีบออกมา เนื่องจากกำลังมีการฝึกกันอยู่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ ซึ่งน่าจะมีความแตกต่างจากห้องควบคุมจริง คือ ฝาผนังด้านหนึ่ง เป็น “กระจกเงา” ผืนใหญ่ เจ้าหน้าที่นำชมบอกว่า เป็น “กระจกเห็นทางเดียว” (one-way mirror) คือคนที่อยู่ภายในห้องกระจกเงานั้น จะมองออกมาภายนอกได้ แต่คนภายนอกไม่เห็นข้างในห้องนั้น ภายในห้องกระจกเงาที่ว่า จะเป็นที่ทำงานของครูฝึก เพื่อจะป้อน “อาการผิดปกติ” (malfunction) ให้พนักงานเดินเครื่องแก้ไข

การแยกห้องให้พนักงานเดินเครื่องอยู่แต่เพียงลำพัง จะดูเหมือนห้องควบคุมจริงมากกว่า ไม่เหมือนห้อง sim ของเราที่พอมีอะไรเกิดขึ้น จะหันไปดูข้างหลัง เหมือนกับมีคำถามว่า “พี่ – แกล้งอะไรผมอีกแล้วล่ะ”

อ้าว! – บ้านเราก็มีห้อง sim เหมือนกันรึ

มีครับ แต่ไม่ใช่ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะเรายังไม่มี แต่เป็นโรงไฟฟ้าธรรมดา เช่นที่โรงไฟฟ้าบางปะกง และเราไม่มีห้องกระจก มีแต่ console ของครูฝึก อยู่มุมห้องด้านหลัง operator หันหลังไปก็มองเห็น

ห้อง sim เป็นสถานที่จำเป็นอย่างหนึ่ง สำหรับพนักงานเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ให้มาฝึกเป็นประจำ เพื่อรักษา license หรือใบอนุญาต

เรื่อง license นี้ เทียบได้ง่ายๆเหมือนใบขับขี่รถยนต์ ซึ่งรัฐจะควบคุม ต้องมีใบอนุญาต เพราะมีผลต่อความปลอดภัยของชาวบ้านด้วย แต่ถ้าไปขับรถอยู่ในไร่อ้อย ไม่มีใครไปยุ่งด้วย ก็ไม่มีใครตามไปตรวจใบขับขี่ ถ้ามีความเสียหาย เจ้าของไร่ก็แก้ไขเอาเองก็แล้วกัน

ยานพาหนะอีกอย่างที่ชาวบ้านใช้ คือ เครื่องบิน นักบินจึงต้องมี license เช่นเดียวกัน แถมเข้มข้นกว่าเยอะ เนื่องจากถ้าเกิดผิดพลาด มักจะเป็นเรื่องใหญ่ รัฐจึงบังคับให้ต้องมีการ “เข้า sim” เป็นระยะ เหมือนกัน เช่น ทุกๆ 6 เดือน จึงเป็นค่าใช้จ่ายทางด้านบุคลากรอย่างหนึ่ง

ฝึกนักบินว่าแพงแล้วนะ แต่ฝึกพนักงานเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเผลอๆจะแพงกว่าอีก เพราะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์โรงไฟฟ้า 5 ถึง 10 ปี และมีการฝึกกันถี่ยิบ สอบกันหลายรอบมาก มากแค่ไหน? มากกว่า 100 ครั้งครับ! ว้าว!! แถมยังต้องผ่านการทดสอบจาก national nuclear safety authority (ผู้ซึ่งสามารถถอดถอนใบอนุญาตได้ทุกเมื่อ) อีกหลายครั้ง และต้องกลับไปสอบ requalification exams อีกทุกๆสองปี – ก็สมควรอยู่หรอก เพราะผลกระทบของนิวเคลียร์ต่อประชาชน มันมากกว่าเยอะ เลยต้อง “เสียทองเท่าหัว” ดีไม่ดีอาจจะมากกว่าหัวอีก

ด้วยลักษณะงาน จึงไม่ค่อยมี operator ที่เป็นผู้หญิง แต่ผมทราบมานานแล้วว่า ที่เมืองจีน มีพนักงานเดินเครื่องโรงไฟฟ้าธรรมดาที่เป็นผู้หญิงด้วย จึงถามเขาว่า แล้วพนักงานเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่เป็นผู้หญิงล่ะ มีไหม – มีจริงๆ ครับ และมี case ที่ classic มากอยู่ case หนึ่ง ลงเป็นบทความในวารสาร “Global Times” เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมานี่เอง ในชื่อเรื่องว่า “Golden women” ซึ่งเป็นเรื่องราวของพนักงานเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ปรมาณูสุภาพสตรีที่ไม่ธรรมดาคนหนึ่ง คือ คุณ Xu Jingfan

คุณ Xu ปัจจุบันอายุ 37 ปี เป็นคุณแม่ลูกสอง เธอเกิดในหมู่บ้านเล็กๆ ของเมือง Baoding ทางตอนเหนือของ Hebei Province พ่อเป็นครู แม่เป็นแม่บ้าน หลังจากเรียนจบในปี 2005 จาก North China Electric Power University in 2005 จากบ้านเกิด เธอได้ตัดสินใจออกเดินทางสู่โลกกว้าง มาที่ Haiyang เมืองชายทะเลเล็กๆ ในเขตชานตุง (Shandong) และเริ่มทำงานที่บริษัท Shandong Nuclear Power Company Ltd.

ต่อมา เธอได้รับการฝึกอบรมอีกหลายแห่งในเมืองจีน เช่นที่เซี่ยงไฮ้ Zhejiang Province และเสฉวน (Sichuan Province) รวมทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ช่วงปี 2007 ถึง 2010 เธอได้รับการ train และทดสอบว่า สามารถที่จะเป็นพนักงานเดินเครื่องได้ไหม (operator qualifications) ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Qinshan ที่ Zhejiang Province ทางด้านตะวันออกของจีน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรก โดยหน่วยที่ 1 จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบมาตั้งแต่ปี 1991

ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Qinshan นี่เอง ที่คุณ Xu ตัดสินใจที่จะเป็นพนักงานเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พร้อมกับเพื่อนร่วมฝันอีกหลายคน แน่นอนว่า เธอจะต้องทำงานหนักทั้งวันทั้งคืน

ในที่สุด ในเดือนมีนาคม 2009 เธอก็ทำได้ สามารถสอบผ่าน qualification exam เพื่อที่จะเป็น operator ที่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Qinshan หน่วยที่ 1 ได้

หลังจากนั้น คุณ Xu ได้กลับมาที่ต้นสังกัดเดิม ที่ Haiyang และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่การฝึกอบรม แต่เธอก็ยังคงมีความฝันที่จะเป็นพนักงานเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่ Haiyang Nuclear Power Plant

ช่วงนี้เองที่เธอได้พบรักกับคุณ Miao Weidong เพื่อนร่วมงาน และได้แต่งงานกัน

ครอบครัวเธอวางแผนที่จะมีลูก แต่แผนนี้ก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก เพราะเธอรอที่จะสอบ operator qualification exam จนในที่สุด เธอจึงตั้งครรภ์ในเดือนพฤษภาคม 2014

คุณหมอได้บอกเธอว่า วันกำหนดคลอดคือ วันที่ 13 มกราคม 2015

ทว่า 2-3 วันต่อมา หลังจากครอบครัวเธอได้รับข่าวดีจากคุณหมอ เธอก็ได้รับอีกข่าวหนึ่ง ให้ไปสอบข้อเขียนเพื่อเป็น operator (qualification test) ในวันเดียวกันกับวันกำหนดคลอดพอดี !!

ความรู้สึกของเธอเมื่อทราบข่าว เหมือนกับว่า ความพยายามกว่า 10 ปี ของเธอ แทบจะมลายหายไปในพริบตา

แต่คุณ Miao สามีของเธอได้พูดให้กำลังใจ ไม่ให้ล้มเลิกความตั้งใจ และสนับสนุนให้ไปสอบ ให้เธอดูหนังสือสอบ ดูแลสุขภาพตัวเองและลูกในท้อง – เท่านั้น โดยเขาจะดูแลทุกอย่างในบ้านเอง

ก่อนสอบ เธอจึงต้องทำงานตอนกลางวัน และดูหนังสือสอบตอนกลางคืน และเนื่องจากท้อง เธอจึงต้องใช้วิธีนอนดูหนังสือจนเที่ยงคืน จนหลับไป ตื่นมาดูต่อ

วันที่ 11 มกราคม ใกล้วันคลอด ก่อนวันสอบหนึ่งวัน คุณ Xu ไปตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาล และพบว่า เริ่มมีอาการ หมอจะให้นอนโรงพยาบาลเลย

แต่คุณ Xu ต่อรอง ขอกลับบ้านไปสอบก่อน เพราะเป็นการสอบที่สำคัญมาก

ในที่สุด วันที่ 12 และ 13 มกราคม คุณ Xu ก็ได้เข้าห้องสอบที่เธอไฝ่ฝันมานานหลายปี โชคดีที่ตลอดการสอบที่ยาวนานถึงแปดชั่วโมง ลูกในท้องไม่กวนเลย ทำให้ คุณ Xu สามารถทำข้อสอบที่หนาถึง 80 หน้านั้นได้จนเสร็จ

ทางด้านโรงไฟฟ้า เขาก็เตรียมการเพื่อความปลอดภัยด้วยเหมือนกัน โดยเตรียมรถพยาบาลไว้หน้าห้องสอบ และอนุญาตให้ คุณ Miao สามี รออยู่ด้วย

หลังจากสอบข้อเขียนแล้ว เนื่องจากเป็นกรณีพิเศษ คุณ Xu จึงได้รับอนุญาตจาก National Nuclear Safety Administration ให้สอบสัมภาษณ์ (oral test) ในบ่ายวันนั้นเลย

สอบเสร็จ คุณ Xu ก็ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลทันที และเธอก็ได้คลอดลูกสาวที่เธอเปรียบเสมือนเป็นดวงดาวแห่งความโชคดี (lucky star) ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 14 มกราคม นั่นเอง

ไม่ธรรมดา !!

ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Haiyang ในภาคตะวันออกของจีน เขตจังหวัดชานตุง (Shandong province) มีผู้ที่ได้ใบอนุญาตเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ปรมาณู (certified operator) 140 คน ในจำนวนนี้ มีเพียง 5 คนเท่านั้น ที่เป็นสุภาพสตรี เธอเหล่านั้นจึงถูกเรียกว่า กลุ่ม “ดอกไม้ทองคำทั้งห้า” (Five Golden Flowers)

สมญานาม “Golden Flower” นี้ อาหมวยในเมืองจีนคงปลื้ม

แต่ถ้าเป็นสาวไทย คงต้องเปลี่ยนใหม่ เรียกเป็นอย่างอื่น เพราะสาวไทย ถึงแม้จะชอบดอกไม้ และ ทองคำ แต่ถ้ามีใครมาเรียกคุณเธอว่า นางผกามาศ (ดอกไม้ทองคำ) อาจจะออกอาการหน้าบอกบุญไม่รับ ยิ่งถ้าเรียกให้สั้นลงเหลือแค่สองพยางค์ คงจะโกรธ – ไม่ต้องมองหน้ากันอีกต่อไปแล้ว! (คำนี้อาจจะถูกเซนเซอร์ในละครทีวี แต่อาจไปโผล่ในสภาได้ – ฮ่า)

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

8 ธันวา 62

Ref: http://www.globaltimes.cn/content/1157281.shtml

_________________________________

All right reserved © by Vatchara

ข่าวสารเพิ่มเติม