บทความ : ผมคิดว่า รฟฟ.นิวเคลียร์ มีความจำเป็น
⁃ ที่เขียนจั่วหัวลักษณะนี้ ไม่ได้แปลว่าผมสนับสนุนให้มีการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย ในทันที หรือ จะมีความเห็นใดๆ เกี่ยวกับการมีหรือไม่มีพลังงานนิวเคลียร์ในแผน PDP ฉบับที่กำลังจัดทำอยู่นี้นะครับ
⁃ ที่เขียนเพราะผมยังมีความเชื่อใน 2 หลักการว่า หนึ่ง พลังงานนิวเคลียร์ยังเป็นพลังงานหลัก (Conventional Energy) ประเภทเดียวที่ไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกที และ สอง ผมเชื่อในเทคโนโลยีที่ “มนุษย์” จะสร้างขึ้นมาในอนาคต
⁃ ข่าวล่าสุดที่ทั่วโลกตื่นเต้นคือ การที่ทางการจีนออกมาประกาศว่า อีก 7 ปีจะสร้าง “โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์แบบ Fusion “ ซึ่งเป็นพลังงานแบบเดียวกับที่เกิดในดวงอาทิตย์ เสมือนว่าทางมนุษย์เรากำลังสร้าง Artificial Sun โดยมาจำลองการเกิดดวงอาทิตย์ได้แล้ว ก็ต้องหาทางเก็บ/เลี้ยงดวงอาทิตย์จำลองที่ว่าให้อยู่กับที่ … ที่เก็บดวงอาทิตย์จำลองเรียกว่า Tokamak ตามนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียผู้ประดิษฐ์เป็นคนแรก และการสร้าง Tokamak ก็ต้องออกแบบให้เก็บดวงอาทิตย์จำลองให้ได้นานที่สุดนี้แหละคือโจทย์วิจัยที่มหาอำนาจต่างๆ กำลังแข่งกันอยู่
⁃ โครงการ Fusion Energy ของจีนจะเป็นโครงการสาธารณะที่ใช้งบประมาณมากที่สุดและอาจมองได้ว่า หากจีนประสบความสำเร็จครั้งนี้จะแซงหน้าพี่ใหญ่เช่น สหรัฐอเมริกา และพี่รอง ยุโรป ที่จะก้าวกระโดดด้านนวัตกรรมพลังงาน และอาจจะยิ่งใหญ่กว่าการส่งคนไปลงดวงจันทร์ของพี่ใหญ่ก็ว่าได้ เพราะโลกจะได้มีพลังงานสะอาดที่ไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้มีใช้อย่างเหลือเฟือ และไม่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนอีกต่อไป เนื่องจากโลกเราก็จะไม่ต้องใช้บริการจากแหล่งพลังงานจากน้ำมันและถ่านหินอีกต่อไป
⁃ พลังงานนิวเคลียร์แบบ Fusion (ฟิวชั่น) จะใช้เชื้อเพลิงที่หาง่ายราคาถูกหาได้จากน้ำทะเล และแม้จะยังมีการปล่อยกัมมันตภาพรังสีอยู่บ้างจากการใช้ tritium ซึ่งเป็นไอโซโทปที่ 3 ของไฮโดรเจน แต่น้อยกว่าที่เกิดในเทคโนโลยีเดิมที่เรียกว่า Fission (ฟิสชั่น) ที่ต้องอาศัยคุณสมบัติพิเศษของแร่ธาตุประเภทที่สามารถปลดปล่อยกัมมันตภาพรังสีมหาศาล เช่น ยูเรเนียม
⁃ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ทั้งที่อเมริกา ยุโรป และรัสเซียได้ค้นคิดมาหลายสิบปี แต่ก็ยังห่างไกลความสำเร็จ ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามจากทาง ยุโรปและรัสเซียที่รวมกลุ่มกันดำเนินโครงการวิจัยขนาดใหญ่ (งบมหึมามาก) ชื่อว่าโครงการ ITER ซึ่งผมเองก็เพิ่งมีโอกาสและจังหวะไปเยี่ยมเยียนพร้อมกับคณะของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) จึงได้เห็นกับตาว่า ยุโรปยังตามหลังจีนอยู่ (โครงการ ITER จะใช้ Fusion Energy ผลิตแต่ความร้อนก่อน ยังไม่ปั่นไฟ และขนาดของ Reactor ก็เล็กกว่า)
⁃ แต่ขณะนี้ จีน ก้าวหน้าไปไกลกว่าโดยสามารถพัฒนากลไกการเก็บรักษาปฏิกิริยา Fusion Energy นี้ไว้ได้นานที่สุดในโลก ที่เวลา 1 นาทีครึ่ง(100 วินาที) ซึ่งตามข่าวของ BBC ที่รายงานโดยนายStephen McDonell ที่เล่าว่าได้เข้าไปชมในสถานีทดลองของจีนที่โรงงาน Fuqing จังหวัด Anhui
⁃ ข่าวยังระบุต่อว่า ขั้นต่อไปนักวิทยาศาสตร์จีน กำลังออกแบบโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ Fusion Energy ที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดที่ทดลองใช้อยู่ในขณะนี้ เพื่อจะสามารถผลิตไฟฟ้าให้ใช้งานได้จริงโดยรัฐบาลจีนมีความเชื่อมั่นมากว่าจะสำเร็จได้ จึงทุ่มเทงบประมาณมหาศาล เพื่อวิจัยค้นคว้า สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์มากกว่าประเทศใดๆในโลก
⁃ ผมจะขอจบบทความนี้ ด้วยคำทำนายจากผู้ทรงคุณวุฒิไทยที่ผมนับถือมากท่านหนึ่ง ท่านกล่าวในช่วงไปทริปกับ กฟผ. ด้วยกัน ว่า “… แม้โลกอาจจะแก้ปัญหาพลังงานได้ในปี 2050 แต่ในทุกๆปีต่อจากนี้จนถึง 2040 จะมีปัญหาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกินขนาด และหนักมากขึ้นเรื่อยๆ จนเชื่อได้ว่า ก่อนถึงปี 2038 เราจะเผชิญกับ extreme weathers และ ภัยธรรมชาติที่หนักขึ้นๆเพราะผลจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น” ดังนั้น ในความเห็นผม พลังงานนิวเคลียร์ เป็นสิ่งที่ไทยจะละเลยไม่ได้ครับ