การวิจัยพัฒนาอาวุธปรมาณูรุ่นใหม่ของสหรัฐฯ

การวิจัยพัฒนาอาวุธปรมาณูรุ่นใหม่ของสหรัฐฯ
วุฒิสภาสหรัฐฯ ให้ความเห็นชอบ ในข้อเสนอของฝ่ายบริหาร ในการยกเลิกการห้ามวิจัยอาวุธปรมาณูรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นมติที่รัฐสภาบังคับใช้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ในเรื่องการวิจัยอาวุธปรมาณูขนาดเล็ก (Low-yield หรือ Mini-Nukes) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 5 กิโลตัน หรือมีกำลังแรง 1 ใน 3 ของระเบิดปรมาณู ที่ทิ้งที่เมืองฮิโรชิมา ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2

คะแนนเสียงส่วนใหญ่ ได้จากพรรครัฐบาล คือ รีพับลิกัน ในขณะที่เสียงคัดค้าน มาจากพรรคฝ่ายค้าน คือ เดโมแครท ซึ่งมีความเห็นว่า สิ่งนี้จะเป็นตัวกระตุ้น ให้โลกกลับมีการแข่งขัน ด้านอาวุธปรมาณูอีกครั้งหนึ่ง และเห็นว่า การวิจัยที่ฝ่ายบริหารยืนยันว่า จะจำกัดเพียงแค่นี้นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นการนำไปสู่การสร้าง และใช้อาวุธปรมาณูในที่สุด อย่างไรก็ตาม วุฒิสภากำหนดเงื่อนไข ให้ประธานาธิบดีบุช ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาสหรัฐฯ ก่อนที่จะมีคำสั่งให้มีการพัฒนาอาวุธปรมาณู ที่จะนำไปใช้จริงๆ


ประเด็นดังกล่าวข้างต้น เกิดจากข้อเสนอของฝ่ายบริหาร เพื่อเสนอของบประมาณ 400,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้านการทหาร ต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ด้าน Armed Service ในการค้นคว้าและพัฒนาอาวุธปรมาณู สำหรับใช้ในสนามรบ (Tactical Nuclear Weapons) ทั้งนี้โดยข้อเสนอแรก ได้แก่ การเสนอให้ยกเลิกมติเดิมของรัฐสภา ที่ห้ามวิจัย พัฒนา ทดสอบ และผลิตอาวุธปรมาณูขนาดเล็ก ข้อเสนอที่สอง ได้แก่ การสนับสนุนงบประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อหาหนทางเปลี่ยนอาวุธปรมาณูที่มีอยู่ ให้เป็นระเบิดแรงสูง ที่เรียกว่า Nuclear Earth Penetrator หรือ Bunker Buster Bomb ซึ่งมีอานุภาพที่จะเจาะลึกลงไปในพื้นดิน ก่อนจะระเบิดขึ้น ระเบิดชนิดนี้ จะออกแบบให้ทำลายสิ่งก่อสร้างใต้ดิน โดยจะมีแรงระเบิด มากกว่าระเบิดปรมาณูที่ทิ้งที่ฮิโรชิมา 10 เท่า เป็นที่คาดว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะมีมติไปในทิศทางเดียวกับวุฒิสภาสหรัฐฯ


( ที่มา : The Washington Post. May 22, 2003 )

ข่าวสารเพิ่มเติม