กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ สนับสนุนงบประมาณวิจัยพัฒนา เทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ |
||||||||||||||||
กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ โดยนาย Jeffrey D. Jarrett ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ แถลงที่เมืองโคลัมบัส มลรัฐโอไฮโอ ถึงการสนับสนุนงบประมาณ 450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการทดสอบ 7 ครั้ง ในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีการจับคาร์บอนที่ทันสมัย (Carbon Sequestration Technologies) การศึกษาวิจัยดังกล่าว เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ ในการจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก (Large Scale) การขนส่ง การอัดฉีด (injection) และการเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลอดภัยอย่างถาวรใต้ดิน ตลอดจนความเป็นไปได้ในทางเศรษฐศาสตร์ว่า คุ้มทุนหรือไม่ เป็นต้น การจับคาร์บอนจากแหล่งกำเนิดและอัดลงสู่ใต้พื้นโลก (Carbon Sequestration) จะมีบทบาทอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ในความพยายามที่จะเป็นมาตรการสำคัญ ในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก และยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถใช้ถ่านหินเป็นพลังงานหลักของประเทศได้ต่อไป โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การทดสอบในครั้งนี้ จะเป็นขั้นตอนต่อไปในการแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีการจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Sequestration Technology มีความพร้อมที่จะเข้าสู่เชิงพาณิชย์ได้ และเป็นการสนับสนุนความคิดริเริ่มของประธานาธิบดีบุช ในด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change Initiative) ที่ไม่ร่วมด้วยกับสังคมโลก ในการกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯ โดยปฏิเสธการให้สัตยาบันพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) แต่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยี เพื่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามความสมัครใจ เนื่องจากเห็นว่า ปัญหาโลกร้อนขึ้น ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เกิดขึ้นจริงจากกิจกรรมของมนุษย์ |
||||||||||||||||
การแถลงข่าวดังกล่าว เกิดขึ้นในระหว่างการประชุม Asia-Pacific Partnership on Clean Development and Climate โดยเป็นความคิดริเริ่มภาครัฐ-เอกชน จากประเทศออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ประเทศทั้ง 6 ดังกล่าว มีประชากรรวมแล้วกว่าครึ่งโลก และครอบคลุมเศรษฐกิจและการใช้พลังงานมากกว่าครึ่งโลก เท่าที่ผ่านมา เทคโนโลยีการจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้ ประสบผลสำเร็จได้ดีในโครงการทดสอบขนาดเล็ก หากพบว่า สามารถประยุกต์ใช้ในงานขนาดใหญ่ ก็จะมีบทบาทอย่างยิ่งในการลดก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯ ลง 18 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ. 2553 และจะทำให้สหรัฐฯ มั่นใจได้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าว จะมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ ผลของการทดสอบ จะเป็นตัวสำคัญ ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าในอนาคต ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ หรือ Future Gen Power Plant ซึ่งจะผลิตก๊าซไฮโดรเจนและกระแสไฟฟ้าจากการเผาไหม้ถ่านหิน โดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง โดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการประเมินโครงการดังกล่าว พบว่า มีศักยภาพที่จะเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากกว่า 600 พันล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากแหล่งผลิตพลังงานต่างๆ ในสหรัฐฯ เป็นเวลามากกว่า 200 ปี ทั้งนี้ เครือข่ายในภูมิภาคต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่เป็นหุ้นส่วนในโครงการนี้ รวมกันมีมากกว่า 300 องค์กร ใน 40 มลรัฐ โดยข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากเครือข่าย จะรวบรวมโดย Information Gateway ที่เรียกว่า NATCARB พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยแคนซัส เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านธรณีวิทยา และลักษณะของพื้นโลกของบริเวณที่จะทดสอบ |
||||||||||||||||
|
||||||||||||||||
(ที่มา: กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ, 11 ตุลาคม 2549)
|