เครื่องมือเครื่องใช้ที่มีสารกัมมันตรังสี

เครื่องมือเครื่องใช้ที่มีสารกัมมันตรังสี

ทุกอย่างที่เราพบในชีวิตประจำวันล้วนแต่ประกอบด้วยสารกัมมันตรังสีปะปนอยู่ด้วย บางอย่างเป็นสารรังสีในธรรมชาติ บางอย่างเป็นสารรังสีที่ถูกผลิตขึ้นมา : อากาศที่เราหายใจ น้ำที่เราดื่ม อาหารที่เรารับประทาน พื้นดินที่เราเดิน รวมทั้งสินค้าและเครื่องใช้ที่เราซื้อมา แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะทราบว่ามีการใช้รังสีในการวินิจฉัยและรักษาโรค แต่เมื่อได้ยินคำว่า กัมมันตภาพรังสี และรังสี มักจะคิดไปถึงกลุ่มควันรูปดอกเห็ดที่เกิดจากการระเบิด สัตว์ประหลาดกลายพันธุ์ในภาพยนตร์ หรือหนังสือการ์ตูนแนววิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์อย่างละเอียด สามารถหาชนิดและปริมาณ ของสารกัมมันตรังสีในวัตถุชนิดต่างๆ ได้ บทความนี้จะอธิบายถึงสินค้าและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันบางอย่าง ที่เราใช้กันตามปกติ ว่ามีสารกัมมันตรังสี ที่มีระดับสูงกว่าแบคกราวนด์ ซึ่งสามารถวัดได้ง่ายๆ ด้วย survey meter แบบธรรมดา

เครื่องตรวจจับควัน
เครื่องตรวจจับควันส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดรังสี americium-241 ที่มีกัมมันตภาพรังสีต่ำๆ อนุภาคอัลฟาจากอเมริเซียม สามารถไอออไนซ์ทำให้อากาศแตกตัว และนำกระแสไฟฟ้าได้ เมื่อมีควันเข้าไปข้างใน จะไปบดบังรังสีอัลฟา ทำให้กระแสไฟฟ้าลดลง และทำให้สัญญาณเตือนดังขึ้น แม้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยรักษาชีวิตคนเรา แต่ยังคงมีคำถามจากคนที่กลัวรังสี ว่าเครื่องตรวจควันเหล่านี้ปลอดภัยหรือไม่ คำตอบก็คือ ปลอดภัยแน่นอน เมื่อมีการติดตั้งอย่างถูกต้อง มีการดูแลและทิ้งเครื่องตรวจจับควันโดยไม่เปิดภาชนะบรรจุออก

นาฬิกาข้อมือและนาฬิกาแขวน
นาฬิกาข้อมือและนาฬิกาแขวน บางครั้งมีการใช้สารกัมมันตรังสี hydrogen-3 (tritium) หรือ promethium-147 ปริมาณเล็กน้อย เพื่อทำให้เกิดแสง สมัยก่อน (ก่อนปี 1970) มีการใช้เรเดียม-226 (Ra-226) เพื่อทำให้เกิดการเรืองแสงในนาฬิกาข้อมือและนาฬิกาแขวน ถ้ามีการเปิดหน้าปัทม์ เรเดียมอาจหลุดออกมาได้ จึงควรมีความระมัดระวังในการใช้นาฬิกาแบบนี้

เซรามิกส์
วัสดุประเภทเซรามิกส์ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา เครื่องปั้นดินเผา มักจะมีระดับของสารกัมมันตรังสีในธรรมชาติ ได้แก่ ยูเรเนียม ทอเรียม หรือ โปแตสเซียมสูงกว่าปกติ บางครั้งมีกัมมันตภาพรังสีสูงที่วัสดุเคลือบ ในสมัยก่อน เช่น ช่วงก่อนปี 1960 กระเบื้องและเครื่องปั้นดินเผา โดยเฉพาะที่มีผิวเคลือบสีส้มแดง พบว่ามีกัมมันตภาพรังสีสูงมาก

แก้ว
เครื่องแก้ว โดยเฉพาะเครื่องแก้วแบบเก่าที่มีสีเหลือง หรือสีเขียว มักจะตรวจพบว่ามียูเรเนียมปะปนอยู่ด้วย ซึ่งเรียกว่า canary หรือ vaseline glass นักสะสมบางคนชอบเครื่องแก้วยูเรเนียม เนื่องจากสามารถเรืองแสง เมื่ออยู่ภายใต้แสง black light ขณะที่เครื่องแก้วธรรมดา จะมีโปแตสเซียม-40 หรือ ทอเรียม-232 ที่สามารถตรวจวัดได้ด้วย survey instrument นอกจากนั้น เลนส์กล้องถ่ายรูปสมัยก่อน ในช่วงปี 1950-1970 มักจะเคลือบผิวด้วยทอเรียม-232 เพื่อเพิ่มดัชนีหักเหของแสง

ปุ๋ย
ปุ๋ยเคมีมีการผลิตให้มีระดับของโปแตสเซียม ฟอสฟอรัส และไนโตรเจนต่างๆ กัน ปุ๋ยเคมีจึงมีกัมมันตภาพรังสี เนื่องจากโปแตสเซียม เป็นสารกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ ขณะที่ฟอสฟอรัสได้มาจากแร่ฟอสเฟต ซึ่งเป็นแร่ที่มีระดับยูเรเนียมสูง

อาหาร
อาหารมีสารกัมมันตรังสีตามธรรมชาติหลายชนิด แม้ว่าระดับรังสีของอาหารในบ้าน จะน้อยมากจนตรวจวัดไม่ค่อยได้ แต่การขนส่งอาหารปริมาณมาก สามารถทำให้เครื่องตรวจวัดรังสีที่ด่านผ่านแดนส่งสัญญาณดังขึ้นมาได้ เกลือที่มีโซเดียมต่ำ มักจะมีโปแตสเซียม-40 สูงเป็น 2 เท่าของค่าปกติ เมื่อวัดด้วยเครื่องวัดรังสี

ไส้ตะเกียง
ไส้ตะเกียงเจ้าพายุ ที่มีการใช้กันมากสมัยก่อน มีการผลิตขึ้นโดยมีทอเรียม-232 อยู่ด้วย เมื่อทอเรียมได้รับความร้อนจากการเผาไหม้ของก๊าซจะทำให้เรืองแสงออกมา กัมมันตภาพรังสีจากไส้ตะเกียง มีปริมาณสูงพอจนสามารถใช้เป็นต้นกำเนิดรังสี เพื่อตรวจสอบการทำงานของเครื่องวัดรังสีได้

ยาโบราณที่เข้าสารกัมมันตรังสี
ในสมัยก่อน ในช่วงปี 1920-1950 มีการจำหน่ายสารกัมมันตรังสีหลายชนิด เป็นยารักษาสารพัดโรคกันอย่างแพร่หลาย เช่น เรเดียมแบบเม็ด แบบน้ำ และอุปกรณ์ที่ออกแบบมาให้มีการเติมเรดอนลงในน้ำดื่ม โดยทั่วไปรัฐจะมีหน่วยงานที่ควบคุมดูแลอยู่ แต่ในบางกรณีจะตรวจสอบเพียงการจดทะเบียน หรือใบอนุญาต อุปกรณ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีอันตราย แต่ในบางครั้ง อาจจะพบว่ามีปริมาณเรเดียมสูง จนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์ประเภทนี้ ประชาชนควรแจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ดูแลด้านการควบคุมการใช้สารกัมมันตรังสี

หน่วยงานที่สารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสี ได้แก่:
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กองป้องกันอันตรายจากรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ถอดความจาก:
CONSUMER PRODUCTS CONTAINING RADIOACTIVE MATERIALS
HEALTH PHYSICS SOCIETY FACT SHEET
ข่าวสารเพิ่มเติม