รังสีรักษาคืออะไร ?

รังสีรักษาคืออะไร ?

เราทราบมานานแล้วว่ารังสีสามารถทำความเสียหายกับเซลล์ได้ และรังสีรักษาเป็นวิธีการควบคุมพลังงานของรังสี เพื่อนำมาใช้รักษามะเร็ง
รังสีที่ทำให้เกิดการไอออไนซ์ (Ionizing radiation) เช่น รังสีเอกซ์ สามารถผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในบางส่วนของเซลล์ ที่ใช้ควบคุมการเจริญเติบโตหรือการสร้างเซลล์

ในเซลล์ที่สุขภาพดีจะสามารถฟื้นคืนมาเมื่อได้รับความเสียหาย แต่เซลล์มะเร็งไม่สามารถทำได้

รังสีรักษามี 2 ชนิด ได้แก่ การส่งรังสีจากเครื่องมือที่อยู่ภายนอกร่างกาย กับการฝังสารกัมมันตรังสีไว้ภายในร่างกาย

นักวิจัยที่ทำงานด้านนี้ จะหาทางเพิ่มประสิทธิภาพของรังสีรักษา โดยทำให้ลำรังสีมีความแม่นยำมากขึ้น และทำให้เซลล์มะเร็งมีความไวต่อรังสีมากขึ้น

รังสีรักษา เป็นวิธีการทำลายเนื้องอกด้วยรังสี
ใครที่ใช้รังสีรักษาได้?

หลักการของรังสีรักษา จะใช้ได้กับก้อนเนื้องอกที่พบในตำแหน่งที่แน่นอน เช่น มะเร็งที่ผิวหนัง สมอง เต้านม หรือมดลูก

บางครั้งแพทย์จะใช้ในการทำให้เนื้องอกหดตัวลง ทำให้การผ่าตัดออกได้ผลดีมากขึ้น

ในบางกรณี เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มักจะเลือกใช้วิธีรังสีรักษาก่อน เนื่องจากการผ่าตัดจะทำให้มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

แม้ว่าการใช้วิธีรังสีรักษาอย่างเดียว สามารถรักษามะเร็งได้หลายชนิด แต่หลายกรณีก็ต้องใช้รังสีรักษาภายหลังการผ่าตัด เพื่อทำลายเซลล์ที่อยู่บริเวณโดยรอบ ที่อาจเกิดการแพร่มาจากเซลล์มะเร็ง

แต่ถ้าสงสัย หรือยืนยันได้ว่าเซลล์นั้นยังสามารถเจริญออกไปได้อีก จึงจะเลือกใช้วิธีเคมีบำบัด (chemotherapy)

รูปแบบการรักษาเป็นอย่างไร?

ถ้าเป็นการักษาโดยใช้เครื่องมือฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะต้องได้รับการฉายรังสีซ้ำ ตามช่วงเวลาที่กำหนด

ช่วงเวลาของการรักษาจะแตกต่างกัน ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ตำแหน่ง ขนาด และปริมาณรังสี (dose) ที่แพทย์กำหนด แต่แพทย์มักจะไม่ฉายรังสีทุกวันในช่วงเวลาสั้นๆ

ถ้าเป็นการรักษาโดยการสอดสารกัมมันตรังสีเข้าไปใกล้กับก้อนเนื้องอก มักจะต้องพักอยู่ในโรงพยาบาลระยะหนึ่ง

ผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง?

แม้ว่าขณะที่ทำการฉายรังสีจะไม่มีความเจ็บปวด แต่ผลสะสมของรังสีก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายแบบ

รังสีสามารถทำให้เกิดแผลไหม้ที่ผิวหนังคล้ายกับถูกแสงแดด ซึ่งขึ้นกับจำนวนครั้งและความเข้มของรังสีที่ได้รับ

รังสีรักษาอาจทำให้ผมร่วงบริเวณที่ได้รับรังสี ซึ่งมักเป็นผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น

การฉายรังสีมักจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย และมักจะเซื่องซึม

จะมีความเสี่ยงในระยะยาวหรือไม่?

รังสีที่ทำให้เกิดการไอออไนซ์ (Ionizing radiation) สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่โครงสร้างทางพันธุกรรมในเซลล์ และอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงขึ้นอีกเล็กน้อย จากการที่เซลล์ปกติได้รับรังสี แล้วจะกลายเป็นมะเร็ง

เครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยให้ลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงเหล่านี้ โดยทำให้การกำหนดเป้าหมายทำได้ถูกต้อง แม่นยำมากขึ้น และทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะโดยรอบได้รับรังสีน้อยลง เซลล์มะเร็งจึงถูกทำลาย จากได้รับรังสีมากกว่าเดิม

อุปกรณ์รุ่นเก่าที่ใช้ในงานรังสีรักษา มักจะมีบริเวณที่ฉายรังสีกว้างกว่า เนื้อเยื่อปกติจึงได้รับรังสีเช่นเดียวกับเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็ง ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงได้มากกว่า

ปัจจุบัน รัฐบาลอังกฤษกำหนดให้มีการควบคุมเครื่องมือรุ่นใหม่ ทำให้ความเสี่ยงจากการได้รับรังสีทางการแพทย์มีค่าต่ำลง เมื่อเทียบกับคนไข้ที่ไม่ได้รับรังสี

ในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป?

นักวิจัยกำลังงพยายามที่จะปรับปรุงเทคนิครังสีรักษาเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อผู้ป่วย โดยมุ่งไปที่การใช้ลำรังสีกำลังสูง ซึ่งมีความเที่ยงตรงมากขึ้น และทำให้กำหนดเป้าหมายได้เล็กลงเรื่อยๆ

ยาบางอย่างสามารถทำให้มะเร็งอ่อนแอลงต่อรังสี ทำให้สามารถลดปริมาณรังสี หรือจำนวนครั้งของการฉายรังสีลงได้

งานวิจัยในมุมอื่น ได้แก่การหาวิธีทำให้เซลล์ร้อนขึ้น (heating cells) ในบางบริเวณ ซึ่งจะทำให้มีความไวต่อรังสีรักษามากขึ้น

ถอดความจาก What is radiotherapy?
เวบไซต์ http://news.bbc.co.uk
Friday, 26 August 2005
ข่าวสารเพิ่มเติม