รังสีรักษา |
||
รังสีในทางการแพทย์ที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ รังสีแกมมา ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของแร่บางชนิด ได้แก่ แร่เรเดียม แร่ซีเซียม และแร่โคบอลต์ เป็นต้น และรังสีเอกซ์ที่เกิดจากเครื่องผลิตรังสี ซึ่งอาศัยหลักการทำงานเหมือนเครื่องถ่ายภาพเอกซเรย์ คือ อิเล็กตรอนจะวิ่งไปชนเป้า และปล่อยรังสีเอกซ์ออกมา รังสีทั้ง 2 ชนิดทำให้เนื้อมะเร็งตายได้เหมือนๆ กัน โดยที่การตายของเนื้อมะเร็งมี 2 ลักษณะ คือ เซลล์แตกตายในทันที หรือเซลล์สูญเสียคุณสมบัติในการแบ่งตัว
การใช้รังสีรักษาในการรักษามะเร็งกระทำได้โดยการฉายรังสีไปยังตำแหน่งที่เป็นโรค ซึ่งสามารถฉายรังสี คลุมก้อนมะเร็งทั้งหมด และต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงได้ เครื่องฉายรังสีในปัจจุบัน มีด้วยกันหลายแบบ ขึ้นกับพลังงานทะลุทะลวง ซึ่งสามารถกำหนดความลึกของปริมาณรังสีสูงสุดได้ จึงทำให้ปริมาณรังสีสูงสุด อยู่ลึกไปจากผิวหนัง ดังนั้น เมื่อฉายรังสีอย่างระมัดระวังจะพบอาการแทรกซ้อนน้อยลง หรือในขนาดที่ยอมรับได้ เครื่องฉายรังสีที่นิยมใช้คือ เครื่องโคบอลต์ และเครื่องเร่งอนุภาค |
||
|
||
ปริมาณรังสีรวมที่ผู้ป่วยควรจะได้รับ ขึ้นอยู่กับชนิดมะเร็ง ตำแหน่งที่เป็นโรค อายุ สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย และผู้ป่วยเคยได้รับ หรือวางแผนว่า จะได้รับการรักษาวิธีอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ระยะเวลาในการให้รักษาทั้งหมด ประมาณ 4-6 สัปดาห์
นอกจากการฉายรังสีรักษาแล้ว ยังมีการให้รังสีรักษาแบบหนึ่ง คือ การสอดใส่หรือการฝังแร่เข้าไปยังตำแหน่งที่เป็นมะเร็ง วิธีนี้เป็นการรักษามะเร็งโดยตรง ในการที่มีก้อนมะเร็งตำแหน่งเดียว ขนาดเล็กและจะต้องไม่มีต่อมน้ำเหลืองโต หรืออาจใช้ร่วมกับการฉายรังสี ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มปริมาณรังสีเฉพาะที่ได้ โดยอวัยวะข้างเคียงจะได้รับรังสีลดลง โรคมะเร็งระยะต้น มีขนาดของก้อนมะเร็ง หรือมีต่อมน้ำเหลืองโตไม่เกิน 3 เซนติเมตร สามารถใช้รังสีรักษาเพียงอย่างเดียว ซึ่งได้ผลการรักษาเท่ากับการผ่าตัด แต่สามารถเก็บรักษาอวัยวะที่เป็นโรค และอวัยวะข้างเคียง ให้คงสภาพ และทำหน้าที่ได้อย่างปกติ เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้น การรักษาด้วยรังสีรักษาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ควรพิจารณาการผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษา หรือถ้ามีต่อมน้ำเหลืองโต โอกาสที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปในกระแสเลือดก็มีมากขึ้น จึงควรพิจารณายาเคมีบำบัดร่วมด้วย โดยพิจารณาจังหวะ และเวลาที่เหมาะสม |
||
|
||
อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยจากการฉายรังสี ได้แก่ ผิวหนังแห้ง หนังกำพร้าแห้ง หลุดลอกบางส่วน แต่จะไม่มีการไหม้หรือพองเกิดขึ้น ถ้าฉายรังสีบริเวณศีรษะ ผมจะร่วง แต่เมื่อหยุดฉายรังสี ผมก็จะงอกขึ้นใหม่ได้ ถ้าฉายรังสีบริเวณช่องปากและคอ จะทำให้ต่อมน้ำลายทำงานลดลง ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าปากและคอแห้ง น้ำลายเหนียว ต่อมรับรสทำงานน้อยลง รับประทานอาหารรสไม่อร่อย และเจ็บเวลากลืน ถ้าฉายรังสีบริเวณท้อง ก็อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียได้บ้าง ถ้าฉายรังสีบริเวณท้องน้อย ผู้ป่วยอาจจะปัสสาวะบ่อย มีอาการปวดถ่วงท้อง อยากอุจจาระตลอดเวลา อาการแทรกซ้อนต่างๆ จะค่อยๆ เริ่มเกิดขึ้นในขณะได้รับรังสี ซึ่งแพทย์และพยาบาลจะช่วยกันให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ และให้การรักษาประคับประคอง ผู้ป่วยทุกรายก็จะสามารถทนการรักษาไปได้ตลอด และเมื่อรักษาครบ เนื้อเยื่อต่างๆ ก็จะซ่อมแซมตัวเอง อาการต่างๆ ก็จะทุเลาลง และหายภายใน 2-4 สัปดาห์ | ||
คัดมาจาก: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันที่ 30 ธันวาคม 2548 หน้า 12 คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ โดย น.พ. สุรพงศ์ อำพันวงษ์ |