ภาวะโลกร้อน

ภาวะโลกร้อน

                      ภาวะโลกร้อน ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นร้อนของนานาชาติในปี 2005 จากผลงานวิจัยภาวะโลกร้อน ของนักวิทยาศาสตร์หลายชิ้น และข้อเท็จจริงของสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย ที่เกิดขึ้นกับโลก อาทิ น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย การเกิดพายุเฮอร์ริเคนที่รุ่นแรงหลายลูกในอ่าวเม็กซิโก และความแห้งแล้งบริเวณลุ่มน้ำอะเมซอน เป็นต้น

สหประชาชาติได้จัดประชุมนานาชาติ ว่าด้วยสภาวะอากาศโลก ที่นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2005 ที่ผ่านมา การประชุมครั้งนี้ มีอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวในที่ประชุมตำหนิ สหรัฐอเมริกา ว่าคิดผิดอย่างสิ้นเชิง ที่ปฏิเสธการให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต เพราะประธานาธิบดีบุช เชื่อว่า จะทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา คลินตันกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงมาใช้พลังงานที่สะอาด จะสร้างงานให้กับคนอเมริกาเป็นล้านๆ ตำแหน่ง

“ผมชอบพิธีสารเกียวโต ผมช่วยเขียนมันขึ้น และลงนามด้วย” ลินตันกล่าว และได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง

คลินตันยังกล่าวประณามสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นประเทศที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากที่สุด เพราะมีประชากรเพียง 4% ของโลก แต่ปล่อยก๊าซเรือกระจก ที่เป็นสาเหตุทำให้อุณหภูมิโลกร้อนสูงขึ้นมาก เกือบ 25% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากทั่วโลก

ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2005 นักวิทยาศาสตร์ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยสองชิ้น ซึ่งยืนยันภาวะโลกร้อนที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ผลงานวิจัยชิ้นแรก เป็นของทีมนักวิทยาศาสตร์ยุโรป ซึ่งศึกษาน้ำแข็งใต้พื้นผิวทวีปแอนตาร์กติกา บริเวณไซต์งานที่เรียกว่า Dome Concordia (Dome C)

การศึกษาเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1999 ตามโครงการ European Project for Ice Coring in Antarctica (Epica) โดยเจาะพื้นผิวแอนตาร์กติกา ลึกถึง 3,270 เมตร เพื่อศึกษาย้อนอดีตกลับไปในช่วงเวลาเกือบ 900,000 ปี

ฟองก๊าซซึ่งถูกเก็บกักในน้ำแข็ง จะให้ข้อมูลของก๊าซและการผสมผสานของก๊าซ ในบรรยากาศในช่วงเวลานั้น และข้อมูลของอุณหภูมิด้วย

โดมคอนคอร์เดีย แอนตาร์กติกา
ฟองก๊าซจะถูกเก็บกักในน้ำแข็ง
ซึ่งจะบอกข้อมูลก๊าซ และอุณหภูมิในอดีต
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทีมนี้ค้นพบก็คือ ระดับก๊าซเรือนกระจก คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน ในบรรยากาศปัจจุบัน สูงกว่าช่วงเวลาใดๆ ในระยะเวลา 650,000 ปีที่ผ่านมา และเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทีมนี้บอกว่า ไม่อาจจะยอมรับได้

ศาสตราจารย์ โธมัส สตอคเกอร์ จากมหาวิทยาลัยเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ หัวหน้าโครงการอีพิกา กล่าวถึงการค้นพบครั้งนี้ว่า

“เราพบว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใในปัจจุบันสูงกว่าช่วงเวลาใดๆ ที่ผ่านมาราว 30% และมีเทนราว 130% และเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่รับไม่ได้ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนออกไซด์มีอัตราเพิ่มขึ้นเร็วกว่า 200 เท่าของช่วงเวลาใดๆ ในระยะเวลา 650,000 ปี”

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเป็นผลงานของนักวิจัยจาก UK Met Office และมหาวิทยาลัยอีสแองเกลีย สหราชอาณาจักร นักวิจัยทีมนี้พบว่า ปี 2005 เป็นปีที่ซีกโลกเหนือร้อนมากที่สุด นับตั้งแต่มีการบันทึกกันมา และยังเป็นครั้งที่สอง ที่โลกร้อนที่สุด นับตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมาอีกด้วย

ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิในซีกโลกเหนือ ปี 2005 เปรียบเทียบกับปี 1960 – 1990
                  ข้อมูลบ่งชี้ว่า ระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นโดยเฉลี่ย ในซีกโลกเหนือเท่ากับ 0.65 เซลเซียส สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างปี 1961-1990 และอุณหภูมิพื้นผิวทะเล ในมหาสมุทรแอตแลนติก ก็สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1880 ด้วย ส่วนอุณหภูมิของโลกทั้งใบ สูงขึ้นเท่ากับ 0.48 เซลเซียส สูงที่สุดเป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา

โลกร้อนขึ้นแน่ๆ แต่การคำนวณอุณหภูมิ มีความน่าเชื่อถือเพียงใด เรื่องนี้ เดวิด ไวเนอร์ หนึ่งในทีมงานบอกว่า ไม่มีวิธีการใดที่จะคำนวณอุณหภูมิได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า การคำนวณของทีมงาน จะผิดพลาดได้ไม่เกินบวกลบ 1 องศาเซลเซียส ไวเนอร์ยังบอกว่า แนวโน้มในระยะยาว ค่อนข้างชัดเจนว่า อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้น และเร็วขึ้นกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งชี้ว่าเป็นฝีมือของมนุษย์ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น

“มันเป็นเรื่องฟิสิกส์ง่ายๆ เมื่อมีก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศมากขึ้นจากการปลดปล่อยของโลก ผลที่ตามมาก็คือ อุณหภูมิที่สูงขึ้น” ไวเนอร์กล่าว

ข้อมูลภาวะโลกร้อนที่น่าตกใจก็คือ นับตั้งแต่ปี 1860 เป็นต้นมา 8 ใน 10 ของปีที่ร้อนที่สุดเกิดขึ้นในทศวรรษที่แล้ว

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ตราบใดที่สหรัฐอเมริกา ไม่ร่วมกับนานาชาติ ในการลดก๊าซเรือนกระจก ก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้

บิล คลินตัน พูดไว้น่าจับใจ เขาบอกว่า ขณะนี้ไม่มีข้อเคลือบแคลงใดๆ ว่าสภาวะการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ กำลังขยายตัวออกไป เพราะการกระทำของมนุษย์ และว่าโลกนี้เป็นความมหัศจรรย์ทางชีวเคมี ดังนั้น การทำลายองค์ประกอบของความมหัศจรรรย์ จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งในอนาคต

“ถือว่าเราบ้าเอามากๆ ถ้าหากมามัวนั่งเล่นเกมอยู่ กับอนาคตของลูกหลานของตัวเอง” คลินตันกล่าว

ที่มา: คอลัมน์ ไลฟ์&เทค หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม 2548 หน้า 19
โดย บัณฑิต คงอินทร์

 

 

ข่าวสารเพิ่มเติม