เมื่อเอ่ยถึงแรงโน้มถ่วง เราหลายคนคิดว่า หลังจากที่ Isaac Newton พบแรงดึงดูดระหว่างมวล เมื่อ 350 ปีก่อนนี้ และใช้แรงชนิดนี้ อธิบายสาเหตุการตก ของลูกแอปเปิล สาเหตุที่ดาวเคราะห์ต่างๆ โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี และที่มาของปรากฏการณ์ น้ำขึ้นน้ำลง หรือแม้แต่ ในการวางแผนส่งยานอวกาศ ไปเยือนดวงจันทร์ และดาวอังคาร ฯลฯ ทฤษฏีแรงโน้มถ่วงของนิวตัน ก็แม่นยำและสมบูรณ์ จนไม่น่าจะมีอะไรให้สงสัยอีกต่อไป แต่ความจริงที่ปรากฏ คือ แรงโน้มถ่วง เป็นแรงธรรมชาติ ที่นักฟิสิกส์เข้าใจน้อยที่สุด ทั้งๆ ที่เป็นแรงชนิดแรก ที่มนุษย์รู้จัก (แรงอื่นๆ อีกสามชนิด ได้แก่ แรงไฟฟ้า แรงนิวเคลียร์อย่างอ่อน และแรงนิวเคลียร์อย่างแข็ง) เช่น ไม่มีใครรู้ว่า สนามแม่เหล็ก มีอิทธิพลต่อแรงโน้มถ่วงหรือไม่ ความเร็วของแรงโน้มถ่วงที่ Albert Einstein เชื่อมั่นว่า มีค่าเท่าความเร็วแสงนั้น ก็ยังไม่มีใครพิสูจน์ โดยการทดลองได้ว่าจริง 100 % และถึงแม้กฏแรงโน้มถ่วง จะได้รับการทดสอบว่าจริง สำหรับกาแล็กซี่ ที่อยู่ห่างกันหมื่นล้านปีแสง แต่ในกรณีที่มวลอยู่ใกล้กันกว่า 10 เมตร ก็ยังไม่มีการทดลองใดๆ ที่ยืนยันได้ว่า กฏแรงดึงดูดโน้มถ่วง ยังคงใช้ได้ดี หรือต้องมีการปรับเปลี่ยน สูตรและทฤษฏีแรงโน้มถ่วง กับทฤษฏีควอนตัม มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เหล่านี้เป็นปริศนาของแรงโน้มถ่วง ที่นักฟิสิกส์กำลังขบคิดกันอยู่ |
กฎแรงดึงดูดโน้มถ่วงของนิวตันแถลงว่า วัตถุสองก้อน ที่มีมวล m และ M ถ้านำมาวางห่างจากกัน เป็นระยะทาง T จะมีแรงดึงดูดระหว่างมวลทั้งสอง เท่ากับ F ซึ่งสามารถคำนวณได้ จากสูตร F=GmM/r2 ซึ่ง G ในที่นี้ คือค่า คงตัวของแรงโน้มถ่วง ที่เท่ากับ (6.67407+0.00022) x10 m3/kg s2 เช่น ถ้าเรามีมวล 1 กิโลกรัมสองมวล ที่วางอยู่ห่างกัน 1 เมตร สูตรของนิวตัน ทำนายว่า จะมีแรงดึงดูดระหว่างมวลทั้งสอง เท่ากับ (6.67407×10-11) x1 x 1 / 12 = 6.67407 x 10-11 นิวตัน ซึ่งน้อยมาก แต่ถ้ามวลคู่กรณี คือมวลของหลุมดำ หรือกาแล็กซี แรงดึงดูดระหว่างกัน ก็จะมีค่ามาก เป็นต้น |
จากความจริงที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล ดึงดูดกันและกัน เช่น ณ วินาที ที่เรากำลังถูกกาแล็กซีต่างๆ ดึงดูด ถูกดาวทุกดวงในจักรวาลดึงดูด ถูกต้นไม้ภูเขา และเพื่อนมนุษย์ทุกคนดึงดูด ในขณะเดียวกันเราก็ดึงดูดคนทุกคน และแม้กระทั่งกาแล็กซี ก็ถูกเราดึงดูด การมีแรงจำนวนมากมายเช่นนี้ ทำให้การจะวัดค่าแรง ที่กระทำต่อวัตถุให้ถูกต้อง และละเอียดที่สุด เป็นเรื่องที่ยากมาก เมื่อเหตุและผลเป็นเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจที่จะรู้ว่า G เป็นค่าคงตัวในธรรมชาติ ที่นักฟิสิกส์วัดได้เพียงหยาบๆ ถึงทศนิยมตำแหน่งที่ 5 ในขณะที่ค่าคงตัวอื่นๆ เช่น ความเร็วแสง ประจุของอิเล็กตรอน หรือค่าคงตัวของพลังก์ (Planck) เรารู้ละเอียดถึงทศนิยมตำแหน่งที่ 12 แล้ว |
ดังได้กล่าวแล้วว่า โลกก็ดึงดูดสสารทุกรูปแบบ ทั้งที่อยู่บนโลก ใต้โลก หรือใกล้โลก นักฟิสิกส์ได้กำหนดให้ เรียกแรงดูดที่โลกกระทำต่อวัตถุนั้นว่า น้ำหนักของวัตถุ และเมื่อแรงดึงดูดโน้นถ่วง ที่โลกกระทำต่อวัตถุ แปรผกผันกับระยะทางยกกำลังสอง นั่นแสดงว่า ถ้าวัตถุอยู่ไกลจากศูนย์กลางของโลกมาก แรงดึงดูดจะน้อย นั่นคือน้ำหนักของวัตถุจะน้อยด้วย ในทางตรงกันข้าม ถ้าวัตถุอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของโลกมาก แรงดึงดูดที่โลกกระทำต่อวัตถุจะมาก ซึ่งมีผลทำให้ น้ำหนักของวัตถุมากด้วย (ในการใช้สูตรคำนวณแรง ระยะทางระหว่างวัตถุกับโลก คือระยะทางที่วัตถุนั้น อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของโลก) ด้วยเหตุนี้ สำหรับคนที่กังวลเรื่องน้ำหนักตัว วิชาฟิสิกส์ก็มีวิธี ทำให้คุณสบายใจได้ คืออย่าชั่งน้ำหนัก ขณะที่อยู่ที่ขั้วโลก แต่ควรชั่งเวลาเดินทางไปสิงค์โปร์ หรืออินโดนีเซีย เพราะเวลาอยู่ที่ขั้วโลก คุณจะอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของโลก ยิ่งกว่าเวลาที่อยู่บริเวณ เส้นศูนย์สูตรประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งมีผลทำให้ น้ำหนักตัวที่ขั้วโลก มากกว่าน้ำหนักตัวที่เส้นศูนย์สูตรประมาณ 400 กรัม |
แต่โลกของเรามิได้กลมดิก เช่นลูกบิดเลียด เพราะผิวโลกมีส่วนที่เป็นภูเขา หุบเหว ทะเล แหล่งแร่ และแหล่งน้ำมันใต้ดิน ฯลฯ การมีภูมิทัศน์ที่หลากหลายเช่นนี้ ทำให้ความหนาแน่นของดินและหิน ในบริเวณต่างๆ ของโลกมีค่าต่างๆ นานา จึงมีผลทำให้ แรงดึงดูดที่โลก กระทำต่อวัตถุก้อนเดียวกัน มีค่าแตกต่างกันไป ตามสถานที่ ที่วัตถุก้อนนั้นอยู่ นักฟิสิกส์ใช้วิธี แสดงความไม่สม่ำเสมอ ของแรงดึงดูดโน้มถ่วง ที่โลกกระทำต่อวัตถุ ก้อนเดียวกัน ขณะวัตถุอยู่ ณ ที่ต่างๆ บนโลก ในรูปความเข้ม ของสนามแรงโน้มถ่วง เช่น ถ้าความเข้มของสนามมีค่ามาก แสดงว่า ที่นั้น โลกดึงดูดวัตถุต่างๆ รุนแรง แต่ถ้าความเข้ม ของสนามมีค่าน้อย ก็แสดงว่า แรงที่โลกดึงดูด (หรือน้ำหนักวัตถุ) ก็น้อยด้วย |
นักฟิสิกส์สนใจวัดความเข้ม ของสนามแรงโน้มถ่วง มาเป็นเวลานานกว่า 35 ปีแล้ว โดยได้ใช้ดาวเทียม โคจรเหนือโลก ที่ระดับความสูงต่างๆ กัน เป็นเวลานานๆ เพราะข้อมูลที่ได้ จะช่วยให้ทหาร สามารถยิงจรวดนำวิถี สู่เป้าได้อย่างแม่นยำ และช่วยให้นักธรณีวิทยา รู้ตำแหน่งแห่งที่ ของน้ำมัน หรือแร่ใต้ดิน อีกทั้งช่วยให้ นักสมุทรศาสตร์ สามารถทำนาย การไหลของกระแสน้ำ ในมหาสมุทรล่วงหน้าได้ และช่วยผู้เชี่ยวชาญเรื่องภูเขาไฟ ให้รู้เวลาที่ภูเขาไฟจะระเบิด การใช้ดาวเทียม ตรวจวัดความเข้ม สนามแรงโน้มถ่วงนี้ จึงทำให้นักฟิสิกส์ รู้ความจริงหนึ่งว่า ความเข้มนี้ ขึ้นกับเวลา เพราะใต้โลก มีการไหลของหินเหลว และการเคลื่อนที่ของเปลือกทวีป เป็นต้น |
เช่น เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2545 องค์การบริหารการบินและอวกาศ แห่งสหรัฐอเมริกา (NAASA) กับศูนย์การบินและอวกาศ ของเยอรมนี (DLR) ได้ส่งยานอวกาศ ขึ้นโคจรรอบโลกสองลำ ภายใต้โครงการ ชื่อ Gravity Recovery and Climate Experiment หรือที่เรียกย่อๆ ว่า GRACE ให้ทำหน้าที่ วัดความเข้มสนามแรงโน้มถ่วง ณ สถานที่ต่างๆ บนโลก โดยหวังว่า ข้อมูลของ GRACE จะแม่นยำ และละเอียดกว่า ข้อมูลเดิม 1,000 เท่า |
โครงสร้าง GRACE ประกอบด้วย ดาวเทียมแฝดสองดวง ที่ได้รับการออกแบบ ให้เหมือนกันทุกประการ ดาวเทียมแต่ละดวง หนักประมาณครึ่งตัน และมีขนาดใหญ่ เท่ารถยนต์ NASA ให้ดาวเทียมทั้งสองดวง โคจรเหนือระดับโลก ที่ระดับสูง 500 กิโลเมตร โดยให้มีวงจรโคจรเดียวกัน แต่ให้ดาวเทียมดวงหนึ่ง โคจรนำหน้าดาวเทียมอีกดวงหนึ่ง ประมาณ 220 กิโลเมตร ดังนั้น เมื่อดาวเทียมดวงแรก วัดความเข้มของสนามแรงโน้มถ่วง ณ ที่หนึ่งแล้ว หากความเข้มของสนามแรงโน้มถ่วงไม่เปลี่ยนแปลง ดาวเทียมดวงที่ 2 ก็จะโคจรผ่าน ตำแหน่งที่ดาวเทียมดวงแรกผ่าน พอดิบพอดี แต่ถ้าความเข้ม ของสนามแรงโน้มถ่วง ที่ตรงนั้นเปลี่ยน เช่น ความเข้มได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ระดับความสูงของดาวเทียมดวงที่ 2 ก็จะลดลงเล็กน้อย การติดต่อสื่อสาร ระหว่างดาวเทียมทั้งสอง ด้วยคลื่นไมโครเวฟ ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ รู้ระยะห่างระหว่างดาวเทียม และความสูงของวงโคจร ละเอียดถึง 10-6 เมตร (หรือไมโครเมตร) ซึ่งเป็นความหนาของเส้นผม |
ยกตัวอย่าง เช่น เวลาดาวเทียมดวงแรก กำลังจะโคจรผ่าน เทือกเขาหิมาลัย แรงโน้มถ่วง ที่มหาศาลของภูเขา ก็จะดึงดูดดาวเทียมนั้น ให้พุ่งไปข้างหน้าเร็วขึ้น ทำให้ระยะห่าง ระหว่างดาวเทียมนั้น กับคู่แฝดของมัน ที่กำลังโคจรตามมา เพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อดาวเทียมโคจรผ่านภูเขาไปแล้ว ภูเขาก็จะส่งแรงโน้มถ่วงดึงดูดดาวเทียมกลับ และในขณะเดียวกัน กับภูเขาก็จะดึงดูดดาวเทียมดวงที่ 2 ที่กำลังตามมาให้พุ่งไปข้างหน้าเร็วขึ้น ดังนั้น ระยะห่างระหว่างดาวเทียมทั้งสอง ก็จะน้อยลง การเปลี่ยนแปลงของระยะห่าง ระหว่างดาวเทียมนี้ แสดงให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า บริเวณนั้น มีภูเขาอยู่ และภูเขาทำให้ ความเข้มของสนามแรงโน้มถ่วง เปลี่ยนแปลงมากหรือน้อยเพียงใด และเมื่อดาวเทียมทั้งสองดวง โคจรผ่านภูเขาไปแล้ว ระยะห่าง ระหว่างดาวเทียมทั้งสองดวงก็จะคงเดิม |
การรู้ข้อมูลที่แปรปรวน ผิดปรกติ นี้ ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า ความหนาแน่นของโลก ในบริเวณต่างๆ มีค่ามากน้อยเพียงใด เพราะการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บนดาวเทียม สามารถกระทำได้ วันละ 5 ครั้ง ดังนั้นภายใน 1 เดือน ดาวเทียมทั้งสอง ก็จะสามารถวัดความเข้ม ของสนามแรงโน้มถ่วง ในบริเวณต่างๆ ของโลกได้หมด แต่โครงการ GRACE ก็มีข้อจำกัดที่ว่า ข้อมูลที่ได้ เป็นผลรวมของอิทธิพล จากน้ำทะเล จากหินใต้ดิน และทุกๆ อย่างบนโลก GRACE ยังไม่สามารถ แยกแยะอิทธิพลของสิ่งต่างๆ ออกจากกันได้ และเพราะดาวเทียม ทั้งสองต้องใช้เวลา scan ภาพ นาน 1 เดือน ดังนั้น เหตุการณ์อะไรก็ตาม ถ้าเปลี่ยนแปลงเร็ว โดยใช้เวลาน้อยกว่า 1 เดือน GRACE ก็ตรวจจับไม่ได้ |
เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2545 ในที่ประชุมของ Amerlcan Geophysical Union ที่เมือง San Francisco ประเทศสหรัฐอเมริกา NASA ได้นำแผนที่ ของสนามแรงโน้มถ่วงของโลก ออกมาแสดง และข้อมูลที่ทำให้ทุกคนประหลาดใจ คือ ความเข้มสนามแรงโน้มถ่วง ในบริเวณทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา และหิมาลัยค่อนข้างสูง ซึ่งอาจเป็นเพราะบริเวณดังกล่าว ไม่ค่อยได้รับการสำรวจ |
เป้าหมายที่ GRACE มุ่งมั่นจะดำเนินต่อไป คือศึกษาการไหลของกระแสน้ำ ในมหาสมุทร เพราะเหตุว่า ปริมาณน้ำในทะเล เป็นตัวกำหนดแรงโน้มถ่วง ดังนั้นการไหลของกระแสน้ำ ในมหาสมุทรในทิศต่างๆ จะมีผลทำให้ ความเข้มของสนามแรงโน้มถ่วง ขึ้นกับเวลา ซึ่ง GRACE สามารถวัดได้ และการรู้ทิศทาง ของกระแสน้ำอุ่นเช่น Gulf Stream ในมหาสมุทรแอตแลนติก จะสามารถบอกได้ว่า น้ำแข็งในทวีปอาร์กติก จะถูกกระแสน้ำอุ่น ละลายมากหรือน้อยเพียงใด และฤดูต่างๆ ในยุโรปตะวันตก จะมีอุณหภูมิสูง-ต่ำเพียงใด เป็นต้น |
ปริศนาแรงโน้มถ่วง ประเด็นต่อไป ที่นักฟิสิกส์สนใจมาก คือสูตรแรงดึงดูดของนิวตัน ยังถูกต้อง และใช้ได้หรือไม่ ถ้าวัตถุอยู่ใกล้กัน ถึงระดับ 10 เมตร หรือกว่านั้น เพราะทฤษฎีฟิสิกส์สมัยใหม่ ทำนายว่า ที่ระยะใกล้กันมากๆ กฎของนิวตัน ที่ว่าแรงดึงดูดแปรผัน กับระยะทางยกกำลังสอง จะใช้ไม่ได้ และถ้ากฎใช้ไม่ได้จริง นั่นแสดงว่า ธรรมชาติมีมากกว่า 4 มิติ คืออาจจะมี ตั้งแต่ 6-7 มิติตามทฤษฎี String ดังนั้นการวัดขนาดของแรงดึงดูด ขณะที่วัตถุ อยู่ห่างกันเพียง 0.001 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่านั้น จึงสามารถตัดสินได้ว่า จักรวาลที่ Elnsteln คิดว่ามี 4 มิตินั้น จริงๆ มีกี่มิติกันแน่ |
การทดสอบนี้ยากยิ่ง เพราะแรงโน้มถ่วง ที่มวลดึงดูดกันนั้น น้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับแรงอื่น ๆ เช่น แรงไฟฟ้า ดังจะเห็นได้จาก กรณีอะตอมไฮโดรเจน การคำนวณ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถ้าจะให้ แรงดึงดูดแบบไฟฟ้า ระหว่างประจุบวกของโปรตอน กับประจุลบของอิเล็กตรอน มีค่าเท่ากับแรงดึงดูดโน้มถ่วง ระหว่างมวล ของโปรตอน กับอิเล็กตรอนในอะตอม โปรตอนกับอิเล็กตรอน จะต้องอยู่ห่างกัน 2.5 ล้านกิโลเมตร ทั้งนี้เพราะ แรงไฟฟ้า มีค่ามากกว่า แรงโน้มถ่วงประมาณ 10 เท่า นั่นเอง ดังนั้นในการวัดแรงโน้มถ่วง ระหว่างมวล นักทดลองจะต้องมั่นใจว่า มวลทั้งสองที่ใช้ ในการวัด จะต้องมีสภาพ เป็นกลางทางไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์ 100 % และมวลต้องไม่มีสภาพแม่เหล็กเลย เพราะถ้ามีเพียงน้อยนิด แรงดึงดูดแม่เหล็ก จะกลบแรงโน้มถ่วงหมด รายงานวิจัยของ R. Pease ที่ลงพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ปีกลายนี้ Pease และคณะ ได้ใช้โลหะทังสเตน ที่ยาว 20 มิลลิเมตร กว้าง 2 มิลลิเมตร และหนา 0.3 มิลลิเมตร คู่หนึ่ง เป็นวัสดุทดลอง โดยให้สั่นขึ้นลงพร้อมกัน ด้วยความถี่เท่ากัน แต่เพราะแผ่นโลหะทั้งสอง ดึงดูดกัน ด้วยแรงโน้มถ่วง ความถี่ในการสั่นจึงเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย และ Pease ก็ได้พบว่า กฎของนิวตันที่แถลงว่า แรงแปรผกผันกับระยะทางยกกำลังสอง ยังคงเป็นจริงที่ระยะทาง 0.001 มิลลิเมตร |
แต่เมื่อทฤษฎี String ที่เป็นทฤษฎีฟิสิกส์ ซึ่งพยายามอธิบายทฤษฎ๊ควอนตัม และทฤษฎีสัมพันธภาพ ภายใต้กรอบเดียวกัน ทำนายว่า ที่ระยะใกล้กันมากๆ กฎแรงดึงดูดของนิวตัน จะใช้ไม่ได้ คือแรงจะแปรผกผัน กับระยะทางยกกำลัง 2+n เมื่อ n คือ ตัวเลข ที่เกี่ยวข้องกับ มิติของจักรวาล ดังนั้น การทดลองวัดค่าของแรง ที่มวลสองมวลดึงดูดกัน ขณะอยู่ใกล้กันมากๆ จึงมีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้รู้ว่า จักรวาลมีกี่มิติแล้ว ยังช่วยตัดสินอีกว่า ทฤษฎี String นั้น ถูกหรือผิดเพียงใด ด้วยงานวิจัยประเด็นนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากในอนาคต |
การศึกษาสนามโน้มถ่วง ที่มีความเข้มสูงมากๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เช่นกัน เช่นกรณีสนามโน้มถ่วง ของดาวนิวตรอน ซึ่งเกิดจากการระเบิดของดาว supernova เพราะดาวชนิดนี้ มีความหนาแน่นสูงมาก (เนื้อดาว 1 ลูกบาศก์เมตร มีมวลมากถึง 10 กิโลกรัม) ดังนั้น ความเข้มของสนามแรงโน้มถ่วง ของดวงดาวจึงสูงมาก และขณะนี้ NASA ก็มีดาวเทียมชื่อ Rossi X-ray Timing Explorer (RXTE) เพื่อสังเกตดูว่า สนามโน้มถ่วง ที่มีความเข้มมโหฬารนี้ ทำให้ความสว่างของดาว อันเกิดจากการเปล่งรัสีเอ็กซ์ แปรปรวนมากหรือน้อยเพียงใด ข้อมูลที่ได้ จะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติ ของอันตรกิริยา ระหว่างแรงโน้มถ่วงกับแสงดีขึ้น |
ปริศนาลึกลับสุดท้าย ที่ยังไม่มีคำตอบ คือ ความเร็วของสนามโน้มถ่วงนี้มีค่าเท่าไร นิวตันนั้นเชื่อว่า ความเร็วดังกล่าว มีค่ามากถึงอนันต์ แต่ทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปของ Einstein สมมุติว่า ความเร็วของแรงนี้ เท่ากับความเร็วแสงพอดี ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ถ้าดวงอาทิตย์กระเด็น หลุดจากสุริยจักรวาล ในทันทีทันใด พลโลกจะไม่มีใครรู้ จนอีก 8.3 นาที ต่อมา เพราะนั่นคือ เวลาที่แสงเดินทาง จากดวงอาทิตย์ถึงโลก แล้วจากนั้น เมื่อโลกไม่ถูกดวงอาทิตย์ ดึงดูดอีกต่อไป โลกก็จะกระเด็นหลุด จากวงโคจรด้วย สมมุติฐานของ Einstein ข้อนี้ ยังไม่มีการตรวจสอบเลย ดังนั้นเมื่อ Sergel Kopelkin แห่งมหาวิทยาลัย Missouri – Columbia อ้างว่า เขาสามารถวัดความเร็วของแรงโน้มถ่วงว่า เท่ากับ 1.06 เท่าของความเร็วแสง โดยการสังเกตดาว quasar ขณะถูกดาวพฤหัสบดีบดบัง แต่วงการวิชาการ ยังไม่ยอมรับว่า สิ่งที่ Kopeikin วัด คือ ความเร็วของแรงโน้มถ่วง คนส่วนใหญ่ คิดว่า Kopeikin วัดความเร็ว แสงมากกว่า และวิธีเดียว ที่จะทำให้นักฟิสิกส์ทุกคน สบายใจ เกี่ยวกับสมมุติฐานข้อนี้ ของ Einstein คือ ต้องหาคลื่นโน้มถ่วงให้พบ และวัดความเร็ว ของคลื่นให้ได้ โดยไม่อาศัยดาวหรืออะไร |