ธุรกิจโลกแห่พึ่งพลังงานนิวเคลียร์แทนน้ำมัน

ธุรกิจโลกแห่พึ่งพลังงานนิวเคลียร์แทนน้ำมัน

วอชิงตัน – ความสำเร็จของโตชิบา ในการเข้าร่วมประมูลซื้อหน่วยงานด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของบริติชนิวเคลียร์ ฟูเอล หน่วยงานย่อยของรัฐบาลอังกฤษ เป็นการเน้นย้ำอนาคตอันสดใสของพลังงานจากนิวเคลียร์ในหลายประเทศ อาทิ จีน อินเดีย และสหรัฐ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและสภาวะโลกร้อน

บริติชนิวเคลียร์ ฟูเอล ยืนยันว่าเลือกโตชิบาเป็นผู้ชนะประมูลซื้อกิจการเวสติงเฮาส์ อิเลคทริกโค หน่วยงานด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ แต่ไม่ได้ระบุข้อสรุป

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าววงในเปิดเผยว่า วงเงินที่โตชิบาเสนอสูงกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคณะกรรมการรับผิดชอบการขาย จะพิจารณาการประมูลภายในสัปดาห์นี้

ด้านเจเนอรัล อิเลคทริก โค (จีอี) กลุ่มอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ร่วมมือกับฮิตาชิ จำกัด ของญี่ปุ่นก็เข้าร่วมการประมูลนี้ ขณะที่มีมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ จำกัด ก็ให้ความสนใจเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการเปิดเผยเงื่อนไขที่แท้จริงที่โตชิบาเสนอแต่อย่างใด แม้การประมูลบริษัทเทคโนโลยีและพลังงานนิวเคลียร์แห่งนี้จะมีขึ้นมากกว่า 2-3 สัปดาห์ แล้วก็ตาม

แหล่งข่าววงในเปิดเผยว่า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่ต่างชาติเป็นเจ้าของบริษัท ซึ่งมีฐานในเมืองพิตสเบิร์ก ส่งผลให้โตชิบาเข้าสู่การเจรจากับชอว์ กรุ๊ป อิงค์ แห่งบาตัน รูจ นครลอสแองเจลิส เพื่ออาศัยสายสัมพันธ์ที่มี ลดปฏิกิริยาต่อต้านข้อตกลงดังกล่าว

ขณะที่จีอีและมิตซูบิชิปฏิเสธที่จะออกความเห็น

โรงงานแปรสภาพเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ Sellafield
การใช้พลังงานจากนิวเคลียร์มีแนวโน้มน่าสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ ท่ามกลางสภาวะราคาเชื้อเพลิงทะยานสูงขึ้น และความวิตกกังวล เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อน ขณะที่ต้นทุนด้านทรัพยากรเชื้อเพลิง อาทิ ถ่านหิน ปรับตัวสูงขึ้นในเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังขยายตัว บวกกับความต้องการวัตถุดิบจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากจีน

จีน และอินเดียต่างมองหาพลังงานจากนิวเคลียร์มาสนองความต้องการบริโภคเชื้อเพลิงในประเทศที่กำลังขยายตัว

ขณะเดียวกันการปล่อยก๊าซพิษ หรือไอเสียอันเป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อนได้เพิ่มสูงขึ้น แม้หลายประทศแสดงเจตจำนง และพยายามที่จะยึดมั่นต่อเป้าหมายที่ร่วมกันทำขึ้นในพิธีสารเกียวโตก็ตาม นอกจากนี้ การออกแบบเตาปฏิกรณ์ที่ดียิ่งขึ้น เพิ่มความน่าสนใจในตลาดสหรัฐ ที่สงบนิ่งมายาวนาน หลังปิดตัวไปในช่วงต้นทศวรรษ 2523 ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของสาธารณชน เกี่ยวกับความปลอดภัยและต้นทุนการผลิตราคาสูง จนทำให้บรรดานักลงทุนต่างไม่กล้าเสี่ยง

นับแต่นั้นมาบรรดาผู้ผลิตก็หันมาสร้างเตาปฏิกรณ์ในต่างประเทศแถบเอเซียและยุโรป ขณะที่สหรัฐยังคงเป็นตลาดที่มีความต้องการมากที่สุด อันเนื่องมาจากกเศรษฐกิจของประเทศ และความต้องการแหล่งเชื้อเพลิงใหม่ๆ

การเข้าซื้อกิจการของเวสติงเฮาส์ อาจเป็นใบเบิกทางให้ผู้ซื้อรุกเข้าตลาดจีนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะอานิงสงส์จากความต้องการไฟฟ้าดึงดูดความสนใจของบริษัทต่างชาติ และการลงทุน

เวสติงเฮาส์ ผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ส่วนใหญ่ในสหรัฐโดยบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมอนโรวิลล์ รัฐเพนซิลวาเนีย ว่าจ้างพนักงาน 8,500 คน มียอดขาย 1,780 ล้านดอลลาร์ และกำไร 153 ล้านดอลลาร์ ประจำปีงบการเงินสิ้นสุด 31 มีนาคม

ผู้เข้าร่วมประมูลทุกราย ต่างเผชิญหน้ากับความอ่อนไหวทางการเมืองและกฎหมาย ขณะที่สภาคองเกรสแสดงความวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับผู้ซื้อทรัพยากรธรรมชาติ และเทคโนโลยีของสหรัฐที่เป็นบริษัทต่างชาติ เนื่องจากบริษัทแห่งนี้เป็นของรัฐบาลต่างชาติอยู่แล้ว และครั้งนี้จะมีผู้ซื้อจากต่างชาติอีก อาจทำให้บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับแผนขายครั้งนี้

ข่าวสารเพิ่มเติม