ถุงลมนิรภัยป้องกันอันตรายได้จริงหรือ

ถุงลมนิรภัยป้องกันอันตรายได้จริงหรือ

ไชยยันต์ ศิริโชติ

พาหนะรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถกระบะ รถบรรทุก ล้วนแล้วแต่มีอุปกรณ์เสริมความปลอดภัยของผู้อยู่ในรถนั้น (รวมผู้โดยสารและผู้ขับขี่) สิ่งนั้นได้แก่ เข็มขัดนิรภัย Seat belt และถุงลมนิรภัย Air bag
การทำงานของเข็มขัดนิรภัยนั้น สามารถอธิบายด้วยหลักการทางฟิสิกส์เบื้องต้น เมื่อเราคาดเข็มขัดนิรภัยเรียบร้อยแล้ว ถ้ามีการขยับตัวมาข้างหน้าช้า ๆ เข็มขัดนิรภัยจะคลายตัวให้เราเคลื่อนที่ได้ แต่ถ้าเราขยับตัวมาข้างหน้าอย่างเร็ว เข็มขัดนิรภัยจะล็อคไม่ให้เราขยับ ถ้ากล่าวในภาษาฟิสิกส์คือ ถ้าเราเคลื่อนไหวแบบมีความเร่งสูง เข็มขัดนิรภัยจะทำงานทันที ที่กล่าวมาเป็นการทดสอบว่า เข็มขัดนิรภัยที่ท่านคาดอยู่ ทำงานได้หรือไม่ เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนี้ เข็มขัดนิรภัยที่ใช้อยู่ ก็ไม่ต่างจากเอาเชือกมาพันตัวเล่น
ขณะที่เกิดอุบัติเหตุ ตัวถังรถจะมีการกระแทกอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้เกิดความเร่งสูง ตัวเราจะขยับไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว (ใช้กฎการเคลื่อนที่ข้อหนึ่งของนิวตันอธิบายได้ว่า เมื่อไม่มีแรงลัพธ์ที่ไม่เป็นศูนย์มากระทำ วัตถุจะยังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงตัว คำขยายความ ขณะที่เราเคลื่อนที่ไปพร้อมกับรถ ตัวเราจะมีความเร็วเท่ากับรถ แต่เมื่อรถหยุดกระทันหัน เพราะไปชนท้ายเขา หรือถูกเขาพุ่งชนประสานงา ตัวเรายังไม่หยุดตามรถ จงดูเหมือนเราเคลื่อนที่ออกจากเบาะนั่งอย่างรวดเร็ว) ถ้าเข็มขัดนิรภัยทำงานถูกต้อง เข็มขัดนิรภัยนั้นจะล็อคไม่ให้ตัวเราขยับออกไปมากนัก ศีรษะ หน้าอก ใบหน้า ก็ไม่เลยไปกระแทกพวงมาลัยหรือกระจก แต่ถ้าเข็มขัดนิรภัยไม่ทำงาน ท่านก็คงคิดได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกายน้อย ๆ นี้
ถ้าเป็นการชนที่ไม่รุนแรงนัก เพียงแค่เข็มขัดนิรภัยที่ทำงานถูกต้อง ก็สามารถป้องกันหรือลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้อยู่ในรถได้ แต่ถ้าเป็นการชนที่รุนแรงมาก การเหนี่ยวรั้งของเข็มขัดนิรภัย ไม่ให้ร่างการพุ่งไปข้างหน้า ตามกฎการเคลื่อนที่ข้อหนึ่งของนิวตัน เห็นจะไม่เพียงพอเสียแล้ว ร่างกายอันบอบบางของท่าน เห็นทีจะต้องชอกช้ำแน่ เดี๋ยวก่อนเรายังมีผู้ช่วยอีกหน่วยหนึ่ง นั่นก็คือ ถุงลมนิรภัย ถุงลมนิรภัยนี้จะพองตัวทันที ที่มีการชนรุนแรงเกิดขึ้น มันจะรองรับศีรษะ หน้าอก ใบหน้าไม่ให้ไปสัมผัสกับของแข็งที่ไม่พึงปรารถนา โชคดีที่มีผู้ช่วยถึงสองหน่วยทำให้รอดตายไปได้
แต่ท่านอย่าประมาทนะครับ เพราะผู้ช่วยที่แสนดีนี้ ทำคนตายมาเยอะแล้ว จากสถิติปี 1998 ของ The National Highway Traffic Safety Administration (www.nsc.org/partners/safetips.htm) สหรัฐอเมริกา รายงานว่ามีเด็กบาดเจ็บสาหัสและตาย เนื่องจากการพองตัวของถุงลมนิรภัยถึง 99 คน ว้าว ฟังแล้วหนาวเลย ทำไมตอนแรกบอกว่าเป็นผู้ช่วย ตอนนี้กลับบอกว่าเป็นผู้ร้ายไปแล้ว ครับของ
ดี ๆ ก็เหมือนมีดคม ใช้ไม่ดีก็บาดมือตัวเองได้
เนื่องจากถุงลมนิรภัยนั้น จะต้องพองตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยแรงอันมหาศาล เพื่อให้ทันรองรับกับร่างกายผู้อยู่ในรถ ที่กำลังขยับใกล้เข้ามา ถุงลมนิรภัยสำหรับผู้ขับขี่นี้ จะอยู่บริเวณพวงมาลัย และถุงลมนิรภัยสำหรับผู้โดยสารหน้าจะอยู่ตรงคอลโซล มันจะต้องพองตัวเต็มที่ก่อนผู้ใช้บริการจะพุ่งตัวเข้ามา ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่มันควรจะเป็นก็ไม่มีปัญหาใด ๆ แต่ถ้าผู้ที่อยู่ในรถอยู่ใกล้เกินไป แรงอันมหาศาลเพื่อให้ถุงลมนิรภัยพองตัว จะกลับกระแทกให้บาดเจ็บจนถึงตายได้ ยิ่งเด็กเล็กกระดูกอ่อน ๆ ไม่มีเหลือ
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากถุงลมนิรภัย กระดูกซี่โครงของผู้ขับขี่ (ไม่ใช้คำว่าหน้าอกเพราะถ้าเป็นสุภาพสตรีต้องตีความอีกมากมาย) ต้องห่างจากฝาเปิดของถุงลมนิรภัยไม่น้อยกว่า 10 นิ้วหรือ 26 เซนติเมตร เพราะเหตุว่าช่วงที่ถุงลมนิรภัยพองตัวออกมาประมาณ 2-3 นิ้ว หรือ 5-8 เซนติเมตรนั้น แรงดันของของแก๊สภายในถุงลมนิรภัยจะมีค่ามากที่สุด แรงนี้มีค่ามากพอทำให้คนตายได้ แต่เมื่อถุงลมนิรภัย ขยายไปถึง 10 นิ้ว หรือ 26 เซนติเมตร แรงจะลดลงจนไม่เป็นอันตราย
ข้อสำคัญ ผู้ที่อยู่ด้านหน้ารถจะต้องใส่เข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา มิฉะนั้นตัวท่านจะพุ่งเข้าหาถุงลมนิรภัยเร็วกว่ากำหนด แทนที่จะช่วยกลับจะกลายเป็นถุงลมมรณะแทน นอกจากนั้นผู้โดยสารที่เป็นเด็กไม่ควรนั่งข้างหน้า ถึงแม้จะรัดด้วยเข็มขัดนิรภัยก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาเด็กนั่งตัก ตัวเด็กจะอยู่ใกล้หรืออยู่ติดกับถุงลมนิรภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นคิดว่าจะเหลือหรือ หลายท่านอาจคิดว่าถุงลมนิรภัยนั้นเหมือนกับหมอนนิ่ม ๆ ที่จะรองรับร่างกายอย่างนุ่มนวล ความจริงมิใช่เช่นนั้น ในช่วงแรกมันจะพองตัวด้วยความเร็วถึง 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง เรียกว่าท่านยังกระพริบตาไม่เสร็จ มันก็พองตัวเรียบร้อยแล้ว
นอกจากเด็กแล้ว ยังมีผู้ป่วยหลายประเภทที่อาจได้รับอันตรายจากถุงลมนิรภัย ซึ่งควรจะปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่านว่าสมควรใช้หรือไม่ เพราะในอเมริกา (จาก National Safety Council) จะมีรถยนต์รุ่นพิเศษ ที่มีสวิตช์ปิด-เปิดการทำงานของถุงลมนิรภัย เพื่อให้ผู้นั่งข้างหน้าเลือกได้ว่า จะใช้ถุงลมนิรภัยหรือไม่เวลาเกิดอุบัติเหตุ สำหรับประเทศไทยเรานั้นไม่ทราบว่ามีการเลือกเช่นนี้หรือไม่
สรุป เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ใช้รถยนต์ การใช้เข็มขัดนิรภัยและถุงลมนิรภัยเป็นสิ่งที่อาจช่วยลดอันตรายที่เกิดขึ้นในขณะมีอุบัติเหตุ แต่ก็มิได้หมายความว่าท่านจะปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความไม่ประมาท ไม่ดื่มสุรา หรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อประสาท หมั่นตรวจสอบสภาพรถและยาง เคารพกฎจราจร ถ้าทุกคนที่ใช้รถใช้ถนนช่วยกันปฏิบัติตามนี้ อุบัติเหตุก็คงไม่เกิดขึ้น

ข้อมูลที่เขียน ได้จาก National Safety Council และ The National Highway Traffic Safety Administration สหรัฐอเมริกา

ข่าวสารเพิ่มเติม