จีนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มอีก 32 โรง ?
|
|||
ประเทศใหญ่ที่มีประชากรเป็นจำนวนมากอย่างจีนนั้น โดยปกติมักบริโภคพลังงานอย่างยิ่งอยู่โดยธรรมชาติแล้ว
ปริมาณการบริโภคพลังงานของจีน ทวีขึ้นเป็นหลายเท่าตัว เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวไม่หยุดหย่อน กลายเป็นประเทศหนึ่ง ที่มีอัตราการเจริญเติบโต เมื่อวัดด้วยผลิตภัณฑ์มวลภายในประเทศ (จีดีพี) สูงที่สุดของโลก ธุรกิจยิ่งเติบโต จีดีพียิ่งขยายตัว ปริมาณการบริโภคน้ำมันยิ่งมากขึ้น ว่ากันว่า ครึ่งแรกของปีนี้ ปริมาณการบริโภคน้ำมันของจีน ขึ้นจากระยะเวลาเดียวกัน ของปีที่แล้วไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันแพงสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจจีนก็ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจีน หรือประเทศไหนๆ ต้องการพึ่งพาตัวเองในด้านพลังงานด้วยกันทั้งนั้น หลายประเทศ รวมทั้งไทย หันมารณรงค์ การประหยัดพลังงานกัน แต่จีนไม่ (อาจเป็นเพราะ พลังงานส่วนใหญ่ของจีน ถูกใช้ไปในการผลิต) จีนหันไปหาพลังงานใหม่ เพื่อมาทดแทนน้ำมัน ทางการจีนหันไปหาพลังงานนิวเคลียร์ครับ |
|||
|
|||
คาดหมายหันว่า ในเร็ว ๆ นี้ ทางการจีนจะประกาศเปิดประมูล การออกแบบและก่อสร้าง เตาปฏิกรณ์ปรมาณู เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใหม่ ขึ้นมาอีก 4 โรง เป็นโรงไฟฟ้าขนาด 1000 เมกะวัตต์ ทั้ง 4 โรง 2 โรงตั้งอยู่ในเมืองซานเหมิน ในมณฑลเจ๋อเจียง ทางตะวันออกของจีน ส่วนอีก 2 โรงจะอยู่ในเมืองหยางเจียง ที่มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศ ทั้ง 4 โรง ไม่ใช่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกของจีน ตรงกันข้าม ถึงตอนนี้จีนมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แล้ว แต่ถึงอย่างไรนั้น โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ชุดใหม่นี้ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้น ของการหันไปหาพลังงานนิวเคลียร์ อย่างจริงๆ จังๆ ของจีน
มันมีนัยสำคัญ 2 อย่างครับ อย่างแรกคือ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ใหม่ที่ว่านี้ จะเป็นชุดแรก ทีทางการจีน เปิดประมูลให้บริษัทต่างชาติ เข้ามาดำเนินการออกแบบและก่อสร้าง นี่ไม่ใช่จีนสร้างเองไม่ได้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ผ่านมา ทั้ง 9 โรงนั้น เป็นฝีมือของคนจีน ภายใต้ความร่วมมือกับประเทศเจ้าของเทคโนโลยี มันจึงผสมผสานกัน ระหว่างเทคโนโลยีของรัสเซียบ้าง ญี่ปุ่นก็มี ฝรั่งเศส และแคนาดาก็มี ที่สำคัญก็คือ เทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดที่ว่านั้น เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบที่ใช้เทคโนโลยีแบบเก่า ซึ่งจนถึงขณะนี้ จีนเชื่อว่า สามารถออกแบบและก่อสร้างได้เองแล้ว จีนต้องการเทคโนโลยีใหม่กว่านั้น สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคตของตนเองชุดใหม่นี้ ตอนนี้หลายๆ บริษัท ที่มีเทคโนโลยีในการออกแบบ และก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ต่างเสนอตัวกับทางการจีน กันจ้าละหวั่น ทั้งเวสติง เฮาส์ จากสหรัฐอเมริกา อาวีร่า และอัลสตรอมจากฝรั่งเศส เอสเอสอี (อะตอมสตรอยเอ็กซปอร์ต) จากรัสเซีย มิตซูบิชิ จากญี่ปุ่น แต่ หยู เจี้ยน เฟิง ผู้อำนายการ สำนักงานพลังงานนิวเคลียร์ ในสังกัดบริษัทนิวเคลียร์แห่งชาติจีน (CNNC) บอกว่า ผู้ที่ชนะในการประมูลหนนี้ น่าจะจำกัดวงแคบลงมา เหลือเพียงเวสติงเฮาส์ อาวีร่า หรือไม่ก็เอสเอสอี เท่านั้นเอง เพราะ 3 บริษัทนี้เท่านั้น ที่มีศักยภาพในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “รุ่นที่ 3” ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “เพรสเชอร์ไรซ์-วิเตอร์นิวเคลียร์” ได้เทคโนโลยีใหม่ที่จีนยังสร้างไม่ได้ วงเงินในการออกแบบและก่อสร้าง คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ โรงละ 1,500-2,000 ล้านดอลลาร์ รวม 4 โรง ก็ตกประมาณ 6,000-8,000 ล้านดอลลาร์ แต่นั่นไม่ใช้ปัจจัยอย่างเดียว ที่ทำให้แต่ละประเทศ แข่งกันแย่งโครงการนี้ แบบตีนแทบขวิดเท่านั้น หากเป็นเพราะ ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่นี้ จีนได้แสดงท่าทีชัดเจนว่า ต้องการรวมเอาเทคโนโลยี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด เข้าด้วยกัน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่สร้างกันแบบ หลายพ่อพันแม่ เหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว นัยสำคัญที่ประการที่ 2 ข้างต้นนี้ ทำให้เชื่อกันว่า ใครก็ตาม ที่คว้าโปรเจ็กส์แรกนี้ได้ จะสามารถทำมาหากิน กับโครงการไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของจีน ได้อีกนาน อย่างน้อยในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า ทางการจีนประเมินเอาไว้ว่า ภายในปี 2020 หรืออีก 16 ปี นับจากนี้ประเทศจีน จะต้องการพลังงานไฟฟ้า จากพลังงานนิวเคลียร์ เพิ่มขึ้นอีก 32,000 เมกะวัตต์ นั่นเทียบเท่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อีก 32 โรง เป็นอย่างน้อยครับ |