ครูฟิสิกส์ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานกับฯ

ครูฟิสิกส์ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานกับกระแสการปฏิรูปการศึกษา
ผศ.ศิลปชัย บูรณพาณิช
ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายทางการศึกษา ที่เรียกว่า
พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ในแวดวงการศึกษาของประเทศไทย เป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด ที่คลื่นของการเปลี่ยนแปลง ส่งผลถึงครูฟิสิกส์ที่สอนอยู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากเพื่อน ๆ ครูฟิสิกส์จากการประชุมปฏิบัติการหลายครั้ง ที่มีเจ้าภาพหลักคือ สาขาฟิสิกส์ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พบว่า ครูฟิสิกส์ทำงานหนักขึ้นมาก ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน นับตั้งแต่การทำความเข้าใจกับมาตรฐานการเรียนรู้ (standard) มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น (benchmark) สาระการเรียนรู้ช่วงชั้น และการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ในส่วนของสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (แรงและการเคลื่อนที่ พลังงาน) และพบอีกว่าครูต้องทำงานมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากงานหลักที่เป็นงานการจัดการเรียนการสอน คือ งานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินภายในสถานศึกษา การประเมินภายนอก การจัดทำ portfolio เพื่อการประเมินเป็นครูวิทยฐานะต่าง ๆ การทำหน้าที่เป็นกรรมการในฝ่ายต่าง ๆ เป็นต้น จากการ วิเคราะห์ข้อมูลของการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พบว่า ครูใช้พลังงาน เวลา ในการจัดทำเอกสารต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนโดยตรง เป็นสัดส่วนที่สูงมากกว่าตอนที่ยังไม่ปฏิรูปการศึกษา และถ้ายังจำกันได้จะพบว่า มีผู้ตั้งคำถามว่า “ปฏิรูปการศึกษาแล้วได้อะไร” ซึ่งถ้าผู้ตอบเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิรูป ก็อาจมีคำตอบที่ ฟังดูแล้วเข้าที มีวิสัยทัศน์ แต่ถ้าเป็นผู้ตอบทั่ว ๆ ไปก็อาจสงสัยในเหตุที่มาของคำถาม
การที่ครูส่วนใหญ่ต้องสาละวนอยู่กับเอกสารต่าง ๆ มากมายเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องธรรมดาอยู่ ที่เวลาที่ใช้ในการเตรียมการสอนทั้งในด้านองค์ความรู้ กระบวนการเรียนรู้ วัสดุอุปกรณ์ การปฏิบัติกิจกรรมการทดลอง การตรวจงาน การบ้าน เป็นต้น ย่อมถูกผลกระทบไปด้วย อย่างไรก็ตาม มีคำถามที่น่าสนใจว่า ก่อนปฏิรูปการศึกษา ครูไม่ต้องทำเอกสารมากมาย ไม่ต้องเป็นกรรมการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียน หรือเป็นกรรมการการประเมินภายใน ฯลฯ ครูใช้เวลาให้กับการพัฒนาวิชาชีพของตนเองอย่างเต็มความสามารถ เต็มเวลาจริงหรือ ซึ่งก็น่าจะคาดเดาคำตอบได้บ้างว่า มีทั้งจริงและค่อนข้างเป็นจริง (ก็ยังจริงอยู่บ้าง แต่อาจไม่ทั้งหมด สำหรับครูฟิสิกส์ในระดับการศึกขั้นพื้นฐาน ที่ได้มีโอกาสมาร่วมประชุมกับสาขาฟิสิกส์หลายครั้ง ซึ่งมีความเป็นกัลยาณมิตร ผมคิดว่าทุกท่านแม้จะทำงานหนัก ในช่วงการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ ท่านได้ให้เวลากับลูกศิษย์ ในการเรียนการสอนอย่างเต็มความสามารถ และเอาชนะเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ด้วยวิธีแห่งศาสตร์ของฟิสิกส์ ด้วยการทำเรื่องยาก ๆ ให้ง่ายขึ้น ทั้งในส่วนของชีวิตการสอนและชีวิตส่วนตน
สำหรับครูฟิสิกส์อาวุโส ที่สอนมาตั้งแต่หลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ.2503 จะพบว่า การสอนฟิสิกส์จะเน้นไปทางด้านเนื้อหาวิชาเป็นหลัก โดยมีวิชาหลักคือ วิชากลศาสตร์ (แยกเป็นภาค Hydrostatic ภาค Static และภาค Dynamic) และให้ตำราที่ค่อนข้าง Classic มาก ที่แต่งหรือเรียบเรียงโดย อาจารย์อาวุโสทางวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้น ซึ่งได้รับการอนุมัติเป็นตำราเรียนได้ โดยกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งครูฟิสิกส์ส่วนใหญ่ ก็ใช้ตำราเหล่านั้นในการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังมีวิชาเลือกเพิ่มเติม เพื่อนำไปใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดย มีวิชาแม่เหล็กไฟฟ้าความร้อน แสง เสียง และโรงเรียนใดที่มีความพร้อมทางด้านห้องปฏิบัติการ ก็จะสอนเพิ่มเติมในส่วนของการปฏิบัติการวิชาฟิสิกส์ ที่แยกออกมาจากการเรียนการสอนทางทฤษฎี เมื่อมีการปรับปรุงหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และเริ่มใช้ในการเรียนการสอนในปี พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นที่มาของวิชาฟิสิกส์ โดยมีการเรียนการสอนครอบคลุมเนื้อหาวิชามากยิ่งขึ้น และได้มีการปรับหลักสูตรฟิสิกส์โดย สสวท. อีกหลายครั้ง จนกระทั่งมาในยุคปฏิรูปการศึกษา และใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 ในส่วนของวิชาฟิสิกส์จัดอยู่ในสาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ สาระที่ 4 : แรงและการเคลื่อนที่ และสาระที่ 5 : พลังงาน มีข้อที่น่าสังเกตสำคัญ ในการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ของ สสวท. ก็คือการเรียนการสอน ที่บูรณาการการเรียนรู้ ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติเข้าไปด้วยกัน โดยใช้กระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ด้วยกระบวนการสืบสอบหรือสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry หรือ Enquiry) ไม่ว่าหลักสูตรการศึกษาของชาติ จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเรียนรู้ฟิสิกส์ หรือวิทยาศาสตร์ของผู้เรียน ก็ยังเน้นไปยังกระบวนการคิด (brain-on) การปฏิบัติ (hands-on) และทางด้านจิตใจ (minds-on) สำหรับครูฟิสิกส์ในยุคปฏิรูปการศึกษา เราคงมุ่งไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนฟิสิกส์ เพื่อให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนให้มากยิ่งขึ้น ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามในโอกาสต่างๆ สิ่งหนึ่งในหลาย ๆ สิ่งที่อยากฝากเป็นข้อเสนอแนะ ก็คือการแก้ปัญหาการเรียนรู้ฟิสิกส์ ของผู้เรียนโดยการใช้การวิจัยในชั้นเรียน น่าจะเป็นแนวทางหนึ่ง ที่ครูฟิสิกส์หลายท่านได้ดำเนินการไปแล้วอย่างได้ผล โดยการหาปัญหา (ที่แท้จริง มีแนวที่จะแก้ได้) การหาสาเหตุของปัญหา และดำเนินการด้วยวิธีการ หรือกระบวนต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา ซึ่งกระบวนการวิจัยในชั้นเรียนดังกล่าว ควรจะดำเนินการไปพร้อมกับการเรียนการสอนตามปกติ เพื่อให้เกิดผลสูงสุด ในการพัฒนาผู้เรียนและผู้สอนไปในคราวเดียวกัน
สิ่งที่ครูฟิสิกส์ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นพลังในการปฏิรูปการศึกษาของชาติได้ ก็ด้วยความมุ่งมั่นในการปฏิรูปการเรียนรู้ฟิสิกส์ของนักเรียน ด้วยการวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล วางแผนการจัดการเรียนรู้ ให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน สภาพแวดล้อม โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และครูฟิสิกส์ต้องเป็นผู้พัฒนาตนอยู่เสมอ ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสื่อสาร
ข่าวสารเพิ่มเติม