ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
มนูญ ศิริวรรณ
18 ธ.ค. 2562
จากคอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” ในนสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 ธ.ค. 2562
ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
สัปดาห์ที่แล้วผมเขียนเล่าให้ฟังเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจีนที่เขาพัฒนาขึ้นมาเป็นรุ่น 3.0 แล้ว สัปดาห์นี้มาว่ากันถึงเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Gen. 3 กันต่อนะครับ
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ Gen. 3 นั้นได้รับการออกแบบโดยถอดบทเรียนมาจากเหตุการณ์ที่ฟุกุชิมะ ทั้งๆที่ในบางพื้นที่อาจไม่มีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นเลยก็ได้ เช่นที่เมือง Fangchenggang นี้ ได้มีการตรวจสอบสถิติย้อนหลังไป 90 ปีก็ไม่พบเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ และนักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าด้วยลักษณะความลึกและความลาดชันของชายฝั่งทะเลของจีน สถิติการเกิดคลื่นสึนามิที่เคยมีมาของจีนสูงสุดอยู่ที่ 0.51 เมตรเท่านั้น
นอกจากนั้น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Gen. 3 ยังได้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยเข้าไปอีกมากมาย เช่นผนังตัวอาคารเป็นแบบสองชั้นที่มีช่องว่างระหว่างผนังเพื่อลดความเสี่ยงในกรณีที่อาจมีรังสีรั่วไหลออกมานอกตัวอาคาร และตัวผนังชั้นนอกก็ทนทานต่อการพุ่งชนของเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้
ส่วนระบบไฟฟ้าและระบบหล่อเย็นก็ได้มีการเพิ่มเติมระบบสำรองในกรณีฉุกเฉินไม่ให้เกิดไฟฟ้าดับแบบเดียวกับฟุกุชิมะ จนทำให้แท่งปฏิกรณ์นิวเคลียร์ร้อนจนหลอมเหลว และเกิดแก๊สขึ้นจนความดันสูงและทำให้อาคารระเบิด จนกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมา
เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้ระเบิดแบบเดียวกับระเบิดนิวเคลียร์นะครับ เพราะแท่งยูเรเนียมที่นำมาใช้เป็นแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์มีความบริสุทธ์เข้มข้นต่ำกว่า 5% แต่แร่ยูเรเนียม 235 ที่ใช้ทำระเบิดนิวเคลียร์นั้น ต้องผ่านกระบวนการทำให้มีความบริสุทธ์เข้มข้นสูงถึงมากกว่า 90% ครับ
คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าถ้าเป็นนิวเคลียร์เหมือนกันก็จะระเบิดได้เหมือนกัน แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เปรียบเสมือนเบียร์กับวิสกี้ ต่างก็เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลเหมือนกัน แต่วิสกี้จุดไฟติด ในขณะที่เบียร์จุดไฟไม่ติด อย่างนี้เป็นต้น
อีกเรื่องหนึ่งก็คือการอยู่ร่วมกับชุมชน ผู้บริหารโรงไฟฟ้าระบุว่าการสื่อสารและการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด การสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆตามวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น การสื่อสารให้ความรู้ชุมชนให้เข้าใจในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ และมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ จะทำให้โรงไฟฟ้าได้รับการสนับสนุนจากชุมชน และไม่ถูกยุยงปลุกปั่นจากบุคคลภายนอก
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้อยู่ห่างจากนครหนานหนิงซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขตปกครองตนเองมณฑลกว่างสี ไปทางเหนือ 130 ก.ม. และห่างจากย่านใจกลางเมือง Fangchenggang เพียง 25 ก.ม. อยู่ติดกับหมู่บ้านชาวประมงห่างแค่ 2-3 ก.ม. นั่งเล่นอยู่ที่แถวหมู่บ้านก็เห็นโรงไฟฟ้า
แต่ชาวประมงที่นี่ก็ยังทำมาหากินได้อย่างปกติสุข ไม่ได้ลำบากว่าจะหาปลาไม่ได้ เพราะน้ำทะเลจะอุ่นขึ้นจากการนำเอาน้ำทะเลไปหล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ อย่างที่พวก NGO ขู่ชาวบ้านเอาไว้ เนื่องจากทางโรงไฟฟ้าได้มีการควบคุมอุณหภูมิของน้ำที่จะระบายออกมาว่าจะสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสไม่ได้
การที่จีนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำให้สามารถลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลงได้มาก ลดการปล่อยมลภาวะสู่ชั้นบรรยากาศ และลดภาวะโลกร้อน ถ้าไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จีนคงแก้ปัญหาคุณภาพอากาศและปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้ในประเทศไม่ได้อย่างแน่นอน และจะต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในปริมาณที่สูงมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ก่อนจากกัน ซีอีโอของโรงไฟฟ้าบอกผมว่า “น่าเสียดายที่ไทยเริ่มโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก่อนจีน แต่ 30 ปีผ่านไป จีนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 48 แห่ง แต่ไทยยังไม่มีซักแห่งเดียว”
นี่ผมควรจะดีใจหรือเสียใจกันแน่ !!!
มนูญ ศิริวรรณ
18 ธ.ค. 2562
จากคอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” ในนสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 ธ.ค. 2562