ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์กับจุดยืนฯ

ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์กับจุดยืนของประเทศ
เฉลียว มณีเลิศ
นักวิชาการไทยส่วนมาก เป็นกลุ่มที่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก ดังนั้นความคิดเห็นของนักวิชาการไทย มักจะเอนเอียงไปตามแนวความคิดของตะวันตก เมื่อนักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ไทย พูดถึงความเป็นมาของวิทยาศาสตร์ ก็จะเริ่มความจากสมัย renaissance คือเมื่อประมาณ คริสตศักราชที่ 15 เป็นจุดตั้งต้น หรือหากจะขยายความหมาย ของวิทยาศาสตร์ให้กว้างขวาง ก็จะท้าวความไปถึงสมัยกรีกโบราณ เมื่อประมาณกว่าสองพันปีมาแล้ว หรืออาจจะท้าว ไปถึงสมัยอิยิปต์โบราณ หรือชาวไอยคุปต์ต่อไปได้อีกด้วย การที่ยกให้ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์เริ่มสมัยหรือยุค renaissance ก็ด้วยเหตุที่ว่าวิทยาศาสตร์ในยุค renaissance เป็นต้นแบบหรือจุดเริ่มของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ มีการวัด การทดลอง การตั้งทฤษฎี โมเดล สมมติฐาน เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ หรือผลการทดลอง ส่วนวิทยาศาสตร์ของกรีกโบราณนั้น ต่างจากวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ค่อนข้างมาก วิทยาศาสตร์ของกรีกโบราณเป็นการตั้งคำถามและคิดหาเหตุผล ตามแบบของนักปรัชญากรีกโบราณ จุดเด่นของวิทยาศาสตร์กรีกโบราณ คือคณิตศาสตร์และหลักการที่ว่า จะต้องมีการอธิบายที่ว่า เหตุใดสิ่งหรือปรากฏการณ์ที่เราเห็น จึงปรากฏแก่เราในลักษณะนั้นได้
นักประวัติศาสตร์ตะวันตกพวกหนึ่ง มีความรู้ทางวิชาการของยุค renaissance เป็นการรื้อฟื้นวิชาการของกรีกมาประยุกต์เข้ากับสมัยใหม่
ส่วนอีกพวกหนึ่งถือว่าเป็นผลของนักวิชาการในสมัย renaissance เอง ความคิดเห็นของนักประวัติศาสตร์ตะวันตกทั้งสองแนวนี้ ละเลยตัวแปรที่สำคัญ คือกลุ่มโลกอาหรับในสมัยก่อนยุค renaissance ซึ่งเป็นยุคทอง (Golden Ages) ของโลกอาหรับ แต่เป็นยุคมืด (Dark Ages) ของโลกตะวันตก ถ้าเปรียบกรีกโบราณว่า เป็นพ่อตามสายเลือด หรือพ่อเชิงชีววิทยา และวิทยาศาสตร์เป็นลูกตามสายเลือด โลกอาหรับเปรียบเป็นเสมือนหนึ่งพ่อบุญธรรมของวิทยาศาสตร์ เมื่ออารยธรรมกรีกโบราณเสื่อมสลายลง ตามหลักของอนิจจัง วิชาการของกรีกโบราณทั้งหมดรวมทั้งวิทยาศาสตร์ได้ถ่ายโอนไปสู่โลกอาหรับ ชาวอาหรับได้แปลผลงานกรีก เช่น The Republic ไปเป็นภาษาอาหรับ เป็นที่น่าสังเกตว่า ความรู้เกี่ยวกับกรีกโบราณของโลกตะวันตกนั้น แปลมาจากภาษาอาหรับเป็นภาษาละติน และจากภาษาละตินเป็นภาษาตะวันตกสมัยใหม่ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ
เมื่อวิทยาศาสตร์ตามแบบกรีกโบราณ ตกมาอยู่ในมือของนักปราชญ์อาหรับ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ได้ก้าวหน้าไปอย่างอัศจรรย์ ในด้านคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นแม่บทของวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์อาหรับได้พัฒนาระบบตัวเลข ซึ่งเราเรียกว่าเลขอาราบิก หรือตามหนังสือเรียนของสถานส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าเลขอาราบิกฮินดู ในสมัยนั้น ชาวยุโรปเขียนเลข ตามแบบโรมันเป็นต้นว่า 2546 จะเขียนเป็น MMDXLVI ซึ่งเป็นผลบวกระหว่าง MM=2000, D=500 XL=40, VI=6 การเขียนตัวเลขตามแบบนี้ จะนำไปประยุกต์หรือพัฒนาเป็นแคลคูลัสไม่ได้ ตัวเลขอาราบิกแต่ละตัวเป็นหลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อย หลักพัน ด้วยตำแหน่งในตัวเลข ตัวเลขที่ว่านี้ยังคลุมไปถึงตำแหน่งว่างซึ่งแสดงด้วยเลข 0 ซึ่งโลกอาหรับจะอ้างว่า เป็นการคิดค้น หรือทรัพย์สินทางปัญญาของนักปราชญ์อาหรับ บางกระแสเชื่อว่านักปราชญ์อาหรับ รับระบบเลขทศนิยม และเลขอาราบิกมาจากอินเดีย เมื่อประมาณปี 750 AD แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ ศัพท์คณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษ เช่น zero และอื่น ๆ เป็นต้นว่า cipher, algebra, almanac, zenith ล้วนยืมมาจากภาษาอาหรับทั้งสิ้น เช่นเดียวกับศัพท์ในวิชาเคมี amine, ammonia, alcohol ก็เป็นคำอาหรับ ทั้งนี้ ไม่น่าเป็นที่ประหลาดใจนัก เมื่อพระศาสดา ของอิสลาม พระมะหะหมัดได้เน้นไว้ว่า ศาสนาอิสลามจักไม่เป็นที่ผูกอยู่กับปฏิหารย์ แต่เป็นศาสนาที่ใช้ปัญญาวิเคราะห์ เป็นเหตุเป็นผล ศาสนาอิสลาม ตามที่ผู้เขียนเข้าใจไม่ให้ความสำคัญกับความรุนแรง ไม่แสวงชีวิตฟุ่มเฟือย หรือชีวิต ที่อาศัยน้ำดองของมึนเมา หรือชีวิตที่เป็นโลกุตรสุข
นักปราชญ์อาหรับ ทุ่มเทความสนใจให้กับวิชาการ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในสมัยเริ่มต้นที่ชาวอาหรับ รับวิทยาศาสตร์มาจากกรีกโบราณ เมื่อผู้เขียนเป็นผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปเยือนประเทศจีนตามโครงการแลกเปลี่ยน มีนักข่าวจีนมาสัมภาษณ์ว่า ผู้เขียนมีจุดมุ่งหมายอันใดเป็นพิเศษหรือไม่ในการเยือนครั้งนั้น ผู้เขียนตอบว่า ผู้เขียนทำตามคำแนะนำของชาวอาหรับโบราณที่แนะให้เยาวชนอาหรับ “..ให้เดินทางไปไกลแสนไกล แม้นถึงเมืองจีน เพื่อเรียนวิทยาศาสตร์และศิลปะ…” เมื่อเสร็จการสัมภาษณ์ ลูกน้องของผู้เขียนซึ่งเป็นชาวมุสลิมและเดินทางไปด้วยกัน ได้บอกกับผู้เขียนว่า ที่ผู้เขียนพูดไปนั้น เป็นข้อความที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์กุระอ่าน
อนุสรณ์ความรุ่งเรืองของโลกอาหรับ ที่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแรงผลักดัน คือเมือง Isfahan ในอิหร่านตะวันออก และ Alhambra ในสเปนตอนใต้ เมือง Alhambra สร้างหลังเมือง Isfahan เมืองทั้งสองมีความฟุ้งเฟ้อ ตามแบบของวังในนิยายอาหรับเรื่อง “นิทราชาคริต” ซึ่งครั้งหนึ่ง เป็นหนังสือระดับมัธยมศึกษาของประเทศไทย ความฟุ้งเฟ้อที่มากับความสำเร็จ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเป็นการขัดกับค่านิยมของชาวมุสลิมอย่างชัดเจน ในที่สุดนักปราชญ์อาหรับ จึงได้มีการวางแผนเลิกวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยได้ตั้งสถาบันการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นแรงพัฒนาประเทศไทย และประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่แผนเลิกวิทยาศาสตร์และโลกอาหรับนั้น ได้ผลค่อนข้างชัดเจนบริบูรณ์ ลูกบุญธรรมคือวิทยาศาสตร์ถูกขับไล่ออกจากบ้าน และหนีตามไปเป็นสะใภ้หรือเขยของโลกตะวันตก แล้วแต่เราจะคิด วิทยาศาสตร์ให้เป็นหญิงหรือชาย ประเทศในกลุ่มโลกตะวันตกที่เข้าสู่ยุค renaissance คือ สเปนและอิตาลี ทั้งนี้หาได้เป็นเรื่องบังเอิญไม่ ด้วยเหตุที่ประเทศทั้งสองอยู่ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมอาหรับ ต่อจากนั้นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ จึงได้แพร่ไปสู่ประเทศยุโรปอื่น ๆ โดยเฉพาะอังกฤษ เยอรมนี รัสเซีย
การพัฒนาวิทยาศาสตร์ ประกอบกับการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม ทำให้โลกตะวันตกมีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร อย่างไม่มีประเทศใด เคยประสบมาก่อน ส่วนประเทศที่ได้
อานิสงฆ์ทางอ้อม คือประเทศทวีปอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ประเทศกลุ่มโลกตะวันตก ได้อาศัยระบบการเมือง ที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน ประกอบกับความเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีใช้เป็นเหตุหรือความชอบธรรม ที่จะเข้าไปจัดระเบียบสังคมให้แก่โลกที่สาม ทำให้ประเทศในโลกที่สามซึ่งรวมทั้งโลกอาหรับด้วย ได้พัฒนา มาเป็นประเทศ อาณานิคมบ้าง กึ่งอาณานิคมบ้าง หรืออาณานิคมแบบแฝง (klepto colony) บ้าง ภาวะเป็นผู้นำ ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศในยุโรป ถึงจุดสูงสุดเมื่อประเทศรัสเซียยิงจรวดส่งดาวเทียม Sputnik ไปโคจรรอบโลกในปี 1954 และสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจเป็นประเทศผู้นำทางวิทยาศาสตร์ ทำให้สหรัฐเป็นผู้นำทางด้านการทหาร เศรษฐกิจ และการเมืองของโลก และไม่มีทีท่าว่าจะหลุดจากตำแหน่งนี้ไปได้ภายใน 50 – 100 ปีข้างหน้า
ย้อนหลังไปถึงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศในโลกที่สาม ได้พัฒนาหลุดพ้นจากการเป็นกระเทศอาณานิคมบ้าง กึ่งอาณานิคมบ้าง หรืออาณานิคมแบบแฝง (Klepto colony) ประเทศส่วนมากเหล่านี้ ต้องลดทิฐิ พัฒนาเป็นประเทศประชาธิปไตย พร้อมทั้งยอมรับเทคโนโลยีเข้าสู่ระบบการศึกษาและการพัฒนาประเทศ และได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แทบจะกลายเป็นประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว ส่วนบางประเทศ ก็ยังเชื่อว่าความยากจนของประเทศ จะไม่ทำให้ประเทศเข้าสู่ประชาธิปไตย หรือความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ แต่สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ก็เป็นไปได้ ประเทศที่ยากจน เช่น อินเดีย สามารถพัฒนาเป็นประเทศที่มีระบบประชาธิปไตย ที่น่าพิจารณาและเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ เช่นเดียวกับปากิสถาน ซึ่งแม้จะยากจน แต่ก็สามารถเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ได้เช่นกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศปากีสถาน ได้พัฒนาระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ตามแบบประเทศไทย โดยประเทศปากีสถาน ส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกงาน และดูงานที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย นอกจากนั้น ยังได้มีผู้เชี่ยวชาญ จากสถาบันส่งเสริม การสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปช่วยแนะนำแก่ สถาบันการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ของประเทศปากีสถานอีกด้วย บทบาทของนักวิทยาศาสตร์ไทย ในการช่วยประเทศเพื่อนบ้านเช่น บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ลาว ฯลฯ จึงค่อนข้างโดดเด่น มีสุภาษิตโบราณกล่าวว่า ถ้าจะดูความเก่งกาจของครูให้ดูที่ลูกศิษย์ พิจารณาในแง่มุมนี้ ประเทศไทยน่าจะได้รับความสำเร็จ พร้อมกับความภาคภูมิใจไปด้วยกัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศในโลกที่สามที่เจริญก้าวหน้าไปได้ดี มักจะมีนโยบายวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และตัวชี้บ่งที่วัดและเปรียบเทียบได้ เช่น จำนวนนักวิทยาศาสตร์ต่อประชากรพันคน งบประมาณวิจัยค้นคว้า วิทยาศาสตร์เป็นเปอร์เซนต์ของผลิตผลรวมมวล ฯลฯ แต่บางประเทศกลับมีนโยบายที่หน่วงเหนี่ยววิทยาศาสตร์ เป็นต้นว่านโยบายที่แบ่งวิทยาศาสตร์ออกเป็นสองประเภท คือประเภทที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ และประเทศที่ไม่มีบทบาท ในการพัฒนาประเทศ และรวมการพัฒนาวิทยาศาสตร์มูลฐาน เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี หรือแม้แต่ ชีววิทยา เข้าไว้ในประเภทหลัง
หลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบันของประเทศต่างๆ แม้แต่ประเภทเพื่อนบ้าน ได้มุ่งไปที่ Knowledge curriculum คำว่า Knowledge ในที่นี้หมายถึง สิ่งเรียนรู้ ที่สามารถเปลี่ยนไป ให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ หากสิ่งที่เรียนรู้ เปลี่ยนไป ให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ได้ ก็จะไม่นับเป็นความรู้ ดังนั้น หลักการสำคัญของการเรียนรู้ คือการเปลี่ยนสิ่งเรียนรู้ ให้มีประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นให้ได้ ดังนั้น ได้มีผู้เสนอแนะว่า การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ควรจะเริ่มด้วยการใช้ประโยชน์ก่อน และเข้าไปสู่ทฤษฎีภายหลัง หรืออย่างน้อย ผู้สอนน่าจะสอนในสิ่งที่ผู้เรียนรู้ว่า สิ่งที่เรียน มีหรือจะให้ประโยชน์ แก่นักเรียนอย่างไรบ้าง ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพูดถึง Knowledge economy หรือ Knowledge based economy
นักเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศก็กำลังพูดถึง Quantum economy ซึ่งการพัฒนา nano computer และนักฟิสิกส์จะมีบทบาทสำคัญ หลักสูตรการเรียนการสอนของวิศวกรรม และฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ในอนาคตจะมีลักษณะใกล้เคียงกันเข้าไปยิ่งขึ้น
ทั้งหมดนี้ เป็นการท้าทายความสามารถของครูวิทยาศาสตร์ไทยในทุกระดับ และผู้เขียนมีความเชื่อมั่น ในเยาวชนไทย หรือคนรุ่นใหม่ว่า สามารถจะรับมือ กับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะงานท้าทาย ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเกมส์ที่เยาวชนไทยสามารถจะเป็นผู้ชนะได้เมื่อมีโอกาส

 

ข่าวสารเพิ่มเติม