การวิเคราะห์ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อฯ

การวิเคราะห์ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อจัดทำสาระท้องถิ่น
ไชยยันต์ ศิริโชติ
ปัจจุบันการจัดหลักสูตรสถานศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ทางส่วนกลางได้เตรียมเอกสาร ที่เป็นสาระแกนกลางให้ประมาณ 70 % และทางโดยโรงเรียนเตรียมสาระท้องถิ่นด้วยตนเองประมาณ 30% คำว่าสาระท้องถิ่นนั้น มีความหมายครอบคลุมสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
    • ภูมิปัญญาชาวบ้าน
    • วัฒนธรรมท้องถิ่น
    • แหล่งเรียนรู้ในชุมชน
    • แหล่งทรัพยากร สภาพแวดล้อมของท้องถิ่น
    • ฯลฯ
ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์ฟิสิกส์ และมีความสนใจทางด้านดนตรี จึงขอเสนอแนวการจัดทำสาระท้องถิ่น ในเรื่อง คุณภาพเสียง พลังงานของแหล่งกำเนิดเสียง โดยใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของไทย เป็นสื่อการเรียนการสอน โดยวิเคราะห์หลักการการเกิดเสียง ของเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ด้วยความรู้ทางฟิสิกส์ เพื่อให้เป็นแนวทางการวิเคราะห์ และการประยุกต์ความรู้ที่นักเรียนได้เรียนไปแล้ว ส่วนผู้สอนจะนำไปสอนอย่างไรนั้น โปรดใช้ดุลยพินิจของท่าน ซึ่งสามารถตัดทอน เพิ่มเติมหรือใส่กระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ เข้าไป รวมทั้งการวัดและประเมินผล นอกจากนี้ท่านอาจจะจัดเป็นการทดลองหรือโครงงานวิทยาศาสตร์ได้
ที่มาของการวิเคราะห์

  • ผมสนใจหลักการทำงานของเครื่องดนตรีทุกชนิด ทุกประเภท ได้ศึกษาจากตำรา แหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ทดลองด้วยตนเอง รวมทั้งทาง internet แต่ความรู้เรื่องฟิสิกส์ของเครื่องดนตรีไทย โดยเฉพาะของพื้นบ้าน มีผู้ค้นคว้าไว้น้อยมาก ส่วนมากจะเป็นศาสตร์ทางดนตรี ผมจึงเริ่มวิเคราะห์เครื่องดนตรีไทยด้วยตนเอง ได้แก่ ซอด้วง ขลุ่ยไทย ปี่ไทย ระนาด แคน โหวต สำหรับแคนนั้น เป็นเครื่องดนตรีที่มีซับซ้อนของการอธิบายหลักการเกิดเสียงและการเล่น จึงนำความรู้ที่ได้จากค้นคว้าและวิเคราะห์มาเสนอต่อท่าน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน และเป็นการให้เกียรติต่ออัจฉริยภาพของปราชญ์ผู้ประดิษฐ์คิดค้นแคนขึ้นมา นอกจากนั้นอาจเป็นการเริ่มต้นการวิเคราะห์เครื่องดนตรีไทยด้วยหลักการทางฟิสิกส์ รวมทั้งเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างนักวิชาการ ถ้าท่านเห็นว่าผลสรุปของผมอาจมีข้อผิดพลาดหรือต้องการจะเสนอและข้อคิดเห็น
การดำเนินงาน

  • เนื่องจากส่วนกำเนิดเสียงของแคนซ่อนอยู่ในกระพุ้งแก้ม (ผมตั้งชื่อเองเพราะไม่ทราบว่าชาวบ้านเขาเรียกว่าอะไร) ดังนั้นเพื่อที่จะให้ทราบหลักการโดยที่ไม่ต้องทำลายแคน ผมพยายามค้นคว้ามากมาย แต่ก็ไม่ได้ความรู้มากนัก จึงต้องทำการแยกส่วนแคนออกเป็นชิ้น ๆ เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายความงามของเครื่องดนตรี ผมได้ใช้แคนที่มีราคาถูกที่สุด แต่ยังสามารถเปล่งเสียงได้มาแยกส่วน โดยมีอาจารย์ท่านอื่นช่วยแกะให้ หลังจากแกะเป็นชิ้นส่วนย่อยแล้ว ก็ลงมือวิเคราะห์

 

หลักการเกิดเสียงของแคนลักษณะทั่วไป

  • ทำจากไม้อ้อ หรือไม้ไผ่เล็กยาว โดยทำเป็นท่อกลวงปลายเปิดสองข้าง ลิ้นทำด้วยโลหะทองเหลือง วางที่ประมาณ 1/4 ของความยาวท่อ ลิ้นนี้สามารถทำให้เกิดเสียงได้ ทั้งการดูดและเป่า เสียงที่ได้เป็นโน้ตตัวเดิม แต่ spectrum อาจจะไม่เหมือนกัน นอกจากนั้นยังมีรูนิ้วปิด (รูเล็ก ๆ) เจาะที่ประมาณ 1/2 ของความยาวท่อ ถ้ารูนี้เปิดจะไม่มีเสียง ต้องปิดด้วยนิ้วจึงจะมีเสียงดัง สามารถอธิบายโดยการใช้หลักฟิสิกส์ดังนี้ เนื่องจากเป็นท่อปลายเปิดสองข้าง ขณะเกิดเสียงบริเวณตรงกลางท่อจะเป็น anti-node ของคลื่นนิ่ง (พิจารณาจากความดัน) ทำให้ความยาวท่อเท่ากับ l/2 เมื่อมีรูที่บริเวณนี้ จะทำให้อากาศรั่วออกจากรู เป็นผลให้ไม่เกิดคลื่นนิ่ง จึงไม่มีเสียง แต่เมื่อปิดรูก็จะเกิดคลื่นนิ่ง ทำให้ได้ยินเสียง ความถี่ของเสียงที่ได้ยิน จะขึ้นกับความถี่จากกการสั่นของแผ่นทองเหลือง กับการสั่นของลำอากาศภายในท่อ (กลางท่อจะเป็น node ของการกระจัด แต่จะเป็น anti-node ของความดัน ดังนั้นเมื่อมีการเจาะรู ทำให้ความดันอากาศภายในท่อ เท่ากับความดันอากาศข้างนอก จึงไม่เกิด anti-node ของความดัน เป็นผลให้ไม่มีเสียงเกิดขึ้น)
  • ความยาวของลำอากาศภายในท่อของของแคน มีผลต่อความถี่ของเสียง (คล้ายกับขลุ่ยที่ความถี่ของเสียงขึ้นกับความยาวลำอากาศภายในท่อ) แต่สิ่งที่แตกต่างจากขลุ่ยคือ แหล่งกำเนิดเสียงของแคน ใช้การสั่นของแผ่นทองเหลือง ที่มีความถี่คงที่ กำหนดให้ท่อ 1 มีเสียงความถี่ 1 ท่อ 2 จะมีความยาวแตกต่างจากท่อ 1 ทำให้ได้เสียงความถี่ 2 สิ่งที่น่าสังเกตคือ ยังใช้การสั่นของแผ่นทองเหลือง ที่มีความถี่เท่ากับของท่อ 1 เปลี่ยนเฉพาะความยาวของท่อเท่านั้น ตรงนี้ไม่อาจจะอธิบาย ด้วยหลักการของคลาริเนต เพราะว่าความถี่ของลิ้นคลาริเนตแตกต่างกัน ตามการปิดเปิดรูเพื่อเปลี่ยนตัวโน้ต เพราะผู้เป่าให้ความดันที่ลิ้นปี่ไม่เท่ากัน เป็น forced reed vibration นับว่าแคนมีลักษณะเฉพาะของการเกิดเสียงความถี่ต่าง ๆ แตกต่างไปจากเครื่องดนตรีทั่วไป
  • แหล่งกำเนิดเสียงของแคน ใช้การสั่นของแผ่นทองเหลือง ที่มีความถี่คงที่ เป็น free reed vibration แต่เสียงที่เกิดจากการสั่นของแผ่นทองเหลือง จะไปบังคับให้ลำอากาศสั่น เป็น forced vibration ดังนั้นเสียงของแคนจะเป็นเสียงที่เกิดการสั่นของแผ่นทองเหลือง และการสั่นของลำอากาศ แต่ความยาวของลำอากาศเป็นตัวกำหนดความถี่ลัพธ์ที่เราได้ยิน
การเล่นแคน

  • ท่อไม้อ้อแต่ละอันจะมีลิ้นทำด้วยโลหะทองเหลือง วางที่ ? ของความยาวท่อ ท่อจะถูกตัดให้มีความถี่ตรงตามโน้ตดนตรีไทย เมื่อนำท่อมาเรียงกัน แล้วเสียบในกระพุ้งลม พร้อมกับใช้ปลายนิ้วของมือทั้งสองข้างแตะปิดที่รูทำให้เกิดเสียง ต้องการเสียงใด ก็แตะปิดที่รูนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะทำแคนสามารถเล่นทำนองเพลงขั้นคู่คอร์ดได้ เสียงดนตรีจากแคน จึงแตกต่างจากเครื่องดนตรีไทยชนิดอื่น เพราะว่าสามารถเล่นคอร์ดไปพร้อมกับทำนองเพลง
  • การเล่น chord (ประกอบด้วยโน้ตสามตัวขึ้นไป) โดยทั่วไปนั้นมีสองแบบ คือ chord ปกติ
    ที่ทำให้โน้ตทุกตัวในกลุ่มออกเสียงพร้อมกัน กับ broken chord ที่ทำให้โน้ตแต่ละตัวในกลุ่มออกเสียงไม่พร้อมกัน ลักษณะการเล่น chord แบบต่าง ๆ ของแคนมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ลาย ทำให้การประสานเสียงแคนกับคนร้อง และกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นเป็นไปอย่างสนุกสนานมีชีวิตชีวา ลายของแคนมีชื่อต่างๆ กัน ทำนองเดียวกับ ทาง ต่างๆ ของการตีระนาดเอก
ขนาดของแคน

    • แคนมีขนาดต่าง ๆ กัน เรียงลำดับตั้งแต่เล็กไปใหญ่ดังนี้
    • แคนหก มีท่อไม้อ้อ 6 คู่ แต่จะมีลิ้นทองเหลืองเพียง 3 คู่เท่านั้น เป็นแคนสำหรับเด็กหรือเป็นของเล่น
    • แคนเจ็ด มีท่อไม้อ้อ 7 คู่ มีลิ้นทองเหลืองครบทุกท่อ เป็นแคนที่เล่นได้จริง
    • แคนแปด มีท่อไม้อ้อ 8 คู่ มีลิ้นทองเหลืองครบทุกท่อ เป็นแคนสำหรับมืออาชีพในปัจจุบัน
    • แคนเก้า มีท่อไม้อ้อ 9 คู่ มีลิ้นทองเหลืองครบทุกท่อ เป็นแคนที่หาคนเล่นได้ยาก
โน้ตของแคน
เป็นลักษณะ pentatonic คือมีเสียง โด เร มี ซอล ลา โด ทำให้อนุมานได้ว่า ดนตรีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ใช้หลัก pentatonic เช่นเดียวกับ โหวต ซึ่งเป็นเครื่องเป่าที่ทำจากไม้อ้อ (หลักการคล้ายขลุ่ย เพียงแต่ไม่มีการเจาะรูข้าง)
สรุป
ที่ได้วิเคราะห์มาคงจะเป็นจุดเริ่มต้น สำหรับผู้ที่สนใจจะวิเคราะห์หลักการของเครื่องดนตรีไทย
และเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับใช้ทำสาระท้องถิ่น สำหรับเครื่องดนตรีไทยชนิดอื่น ผมจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป
ข่าวสารเพิ่มเติม