2. ความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน
โครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก และต้องลงทุนล่วงหน้าเป็นเวลานาน กว่าจะเริ่มมีรายได้จากการขายไฟฟ้า แต่โดยที่ประเทศได้พัฒนาไปมากและมีฐานเศรษฐกิจที่ดีพอสมควร ความพร้อมในแง่การลงทุนจึงไม่น่ามีปัญหา เพียงแต่ว่านโยบายการใช้พลังงานนิวเคลียร์และการตัดสินใจใช้พลังงานในรูปนี้ จะต้องมีความแน่นอนมากจึงจะทำให้การลงทุนมีอัตราเสี่ยงต่ำ เพราะถ้าลงทุนไปแล้วเกิดมีการเปลี่ยนใจ เปลี่ยนนโยบาย และยกเลิกไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ ดังเช่นในบางประเทศแล้ว การลงทุนนั้นจะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าทันที
3. ความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง
สืบเนื่องมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่าสิบปี ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีสูงขึ้นมาโดยลำดับ จากอุตสาหกรรมที่ประกอบผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว ไปเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องมีการผลิตชิ้นส่วนและทดสอบคุณภาพมากขึ้น หลายอุตสาหกรรม เป็นอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานระดับสากล และหลายอุตสาหกรรมก็กำลังก้าวไปสู่จุดนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้นพอสมควร บุคลากรจำนวนไม่น้อยมีคุณภาพดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีความขาดแคลนอย่างหนัก หากมีการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าขึ้นในประเทศ จะเกิดความต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้นอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างที่ต้องมีคุณภาพสูง การทดสอบแบบไม่ทำลาย เทคโนโลยีเพื่อป้องกันการกัดกร่อน การประกันคุณภาพ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ ดังนั้น การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นจะเป็นการกระตุ้นให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงในหลายสาขา เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีคุณภาพสูง ซึ่งจะเป็นการยกระดับเทคโนโลยีให้สูงขึ้นโดยรวม และจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอื่นโดยปริยาย การใช้เทคโนโลยีชั้นสูงนี้จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรที่เหมาะสม แต่ก็จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย
4. นโยบายการออกกฎหมาย กฎระเบียบ ใบอนุญาต และการควบคุมดูแล
ในแง่ของประเทศ การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนา และการใช้พลังงานเป็นเรื่องที่สำคัญ เช่น ถ้านโยบายชี้ชัดว่า ประเทศจะต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์แน่ ถึงแม้จะเป็นอีก 20 ปีข้างหน้าก็แล้วแต่ การเตรียมตัวของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องคงจะดีกว่า ฝ่ายผลิตไฟฟ้าและดำเนินการ ฝ่ายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายการศึกษาและผลิตบุคลากร ฝ่ายกิจการสาธารณะ และประชาสัมพันธ์ เป็นต้น แต่ถ้านโยบายชี้ชัดว่า ไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์แน่ การเตรียมตัวคงจะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือ เป็นแบบที่ไม่มุ่งเน้นการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้า บุคลากรที่มีอยู่ปัจจุบันจะได้หันไปทำงานทางด้านอื่น และไม่จำเป็นต้องจัดหาหรือผลิตบุคลากรอื่นมาทดแทนหรือเสริมให้มากขึ้น เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรมนุษย์ ที่มีน้อยอยู่แล้ว ให้คุ้มค่าขึ้น แต่การใช้พลังงานนิวเคลียร์ทางด้านอื่น เช่น การแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานจะยังคงต้องมีอยู่ แต่การใช้นโยบายที่เป็นแบบรอดูท่าทีไปก่อนเรื่อยๆ เช่น ปัจจุบัน ทำให้ต่างฝ่ายต่างหยุดคุมเชิงอยู่ แต่ไม่มีการพัฒนาใดๆ ที่มีความหมายเกิดขึ้นอย่างจริงจัง
การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเป็นเรื่องที่ยาก ต้องอาศัยความรู้ การมองการณ์ไกล เหตุผลที่แท้จริงและความกล้าหาญ เมื่อตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดลงไปแล้ว ต้องมีความมั่นคงและพร้อมที่จะอธิบาย รวมทั้งยืนยันในสิ่งนั้นได้ ประเทศเราไม่สู้จะมีความสามารถในเรื่องนี้มากนัก จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ต้องตามแก้ปัญหาย้อนหลังกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความเสียหาย และสิ้นเปลืองเงินทองเกินความจำเป็น ดังจะเห็นได้จากระบบสาธารณะ และสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ระบบขนส่งมวลชน ประปา เขื่อน สนามบิน ท่าเรือ การคมนาคมสื่อสาร การป้องกันน้ำท่วม การป้องกันอัคคีภัย และการบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ
การออกกฎระเบียบและกฎหมายที่รองรับและควบคุมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในขณะนี้ยังไม่พร้อมเพียงพอ เนื่องจากยังไม่มีนโยบายที่แน่ชัด จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่ายังไม่รีบด่วน แต่หากไม่ทำ และรอให้เกิดโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นก่อน อาจจะมีปัญหาตามมาอีกหลายประการ และไม่ก่อให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชนโดยทั่วไปได้
|