Red Mercury

Red Mercury
มีข่าวในกรอบเล็กๆ ของหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2547 ในหัวข้อ สกัดแผน “เดอร์ตี้บอมบ์” ความว่า

ลอนดอน – ตำรวจอังกฤษเผย เมื่อวันที่ 25 กันยายน ว่าได้จับกุมตัวผู้ต้องสงสัย 4 คน ภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย หลังจากได้รับข้อมูลจากหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ “เดอะ นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์” ที่ระบุว่า มีกลุ่มคนพยายามที่จะซื้อสารกัมมันตรังสี “เรด เมอร์คิวรี” จำนวน 1 กิโลกรัม ที่สามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับการทำ “เดอร์ตี้ บอมบ์” เพื่อนำไปให้ชาวซาอุดีอาระเบียคนหนึ่ง ที่อาจเกี่ยวข้องกับเครือข่ายการก่อการร้ายอัลเคด้า โดยมีการเตรียมเงิน เพื่อซื้อสารชนิดนี้ถึง 3 แสนปอนด์ (ราว 22 ล้านบาท) ตำรวจแจ้งว่า ผู้ต้องสงสัยทั้ง 4 คน จะถูกกักตัวไว้สอบปากคำต่อไป (เอเอฟพี/รอยเตอร์)
เดอร์ตี้ บอมบ์ หรือลูกระเบิดสกปรก หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ลูกระเบิดรังสี” คือ ลูกระเบิดแบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไป เช่น ระเบิดไดนาไมท์ ที่มีสารกัมมันตรังสีบรรจุอยู่ด้วย และสารกัมมันตรังสีนี้ จะฟุ้งกระจายออกไปโดยทั่วเมื่อมีการระเบิด ลูกระเบิดรังสีนี้ เมื่อระเบิด จะทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เนื่องมาจากแรงระเบิด และรังสีที่แพร่กระจายไปในอากาศ และก่อให้เกิดการเปรอะเปื้อนทางรังสี ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกชื่อลูกระเบิดแบบนี้ ว่า “เดอร์ตี้ บอมบ์” หรือ “ลูกระเบิดสกปรก” ลูกระเบิดแบบนี้มีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดเท่ารถบรรทุก
(จาก “ลูกระเบิดสกปรก” หรือ “ลูกระเบิดรังสี” “Dirty Bomb” แปลและเรียบเรียงโดย ดร. สมพร จองคำ และ อารีรัตน์ คอนดวงแก้ว กองฟิสิกส์ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ)
เรด เมอร์คิวรี (red mercury) ไม่ใช่ปรอทแดงสำหรับวัดอุณหภูมิ หรือเทอร์โมมิเตอร์ แต่เป็นชื่อของวัสดุนิวเคลียร์ ซึ่งมีการอธิบายคุณสมบัติกันว่า เป็นสารประกอบออกไซด์ของปรอทกับพลวง หรือ Mercuric Pyro-antimonate มีจุดหลอมเหลว -37.87 องศาเซลซียส มีความหนาแน่น 20.20 กรัมต่อซีซี (20 เท่าของน้ำ) มีสูตรโมเลกุล Hg2Sb2O7 หลังจากการผลิตจะมีการนำไปอาบรังสี โดยใช้เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูฯ หรือเครื่องเร่งอนุภาค

ชื่อของ red mercury มีการกล่าวถึงกันมาพอสมควร ว่าเป็นวัสดุที่ใช้สำหรับทำระเบิดนิวเคลียร์ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยกันอยู่บ้างว่ามีอยู่จริงหรือไม่ ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลที่คาดกันว่าหรือได้ยินกันมา

มีบางทฤษฎีที่บอกว่า red mercury เป็นระเบิดที่มีอำนาจการทำลายสูงมาก จนสามารถนำไปใช้ประกอบทำระเบิดฟิวชัน หรือระเบิดไฮโดรเจนขนาดเล็กได้ ซึ่งในปัจจุบันการทำระเบิดฟิวชัน ต้องใช้การจุดระเบิดด้วยระเบิดแบบฟิชชัน ที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นยูเรเนียมหรือพลูโตเนียม แต่มีการคาดกันว่า red mercury มีแรงระเบิดสูงมากพอ ที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชันได้ โดยไม่ต้องใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ระเบิดที่ออกแบบมาโดยใช้ red mercury จึงมีขนาดเล็ก สามารถเคลื่อนย้าย ได้สะดวกกว่าระเบิดฟิวชันทั่วไป ถ้า red mercury มีจริง ขนาดประมาณลูกน้อยหน่า จะให้แรงระเบิดเท่ากับระเบิด TNT ขนาด 2 เมกกะตัน ซึ่งล้ำหน้าระเบิดนิวตรอนที่ประดิษฐ์โดย Samuel Cohen ไปอีก

บางคนบอกว่า red mercury เป็นรหัสของวัสดุ ยูเรเนียม หรือพลูโตเนียมความเข้มข้นสูง เป็นชื่อที่ใช้สำหรับหลอกผู้ก่อการร้าย หรือประเทศที่นิยมความรุนแรง และต้องการครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ โดยมีหัวข้อข่าวทางโทรทัศน์ชิ้นหนึ่ง ที่รายงานว่า รัสเซีย ซึ่งได้ลงนามในการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ได้สนับสนุนให้เคจีบี และจีอาร์ยู ปฏิบัติการในการตรวจสอบ เพื่อสืบหาการค้าวัสดุนิวเคลียร์ ทางการรัสเซียได้ สร้างเรื่อง red mercury ขึ้นมา เพื่อใช้ค้นหาวัสดุนิวเคลียร์ ที่ผู้ก่อการร้ายต้องการ วัตถุชิ้นนี้เป็น ซัลไฟด์ของพลวง (antimony sulphide) ซึ่งมีลักษณะและสีสัน เหมาะที่จะให้เป็นวัสดุนิวเคลียร์ได้

ขณะเดียวกัน บริษัท Du Pont ของสหรัฐอเมริกา ได้จดทะเบียนวัตถุระเบิดที่เป็นของเหลว เลขที่ 20720-76-7 โดยเป็นสารประกอบของ HgSbO เช่นเดียวกับ red mercury แต่ไม่มีรายละเอียดในการผลิตสารประกอบดังกล่าว

ข้อมูลเรื่องนี้จึงยังไม่ชัดเจน ถ้ามีความคืบหน้า สมาคมฯ จะได้นำมาเสนอต่อไป
ข่าวสารเพิ่มเติม