อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
(Albert Eintein ค.ศ. 1875-1955)

“Science is a powerful instrument. How it is used, whether it is a blessing or a curse to mankind, depends on mankind and not on the instrument. A knife is useful, but it can also kill.”
 Albert Einstein

ไอน์สไตน์ เกิดที่เมืองอูล์ม (Ulm) แคว้นวือเต็มเบิร์ก อยู่ทางตอนใต้ของเยอรมัน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1875 บิดาชื่อ เฮอร์มาน มารดาชื่อ พอลลีน ไอน์สไตน์ เป็นชาวยิว มีอาชีพขายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เขามีน้องคนเดียวเป็นหญิงชื่อ มายา

วัยเด็กไอน์สไตน์เรียนที่เมืองมิวนิค การเรียนไม่ดีนัก โดยเฉพาะด้านภาษา แต่สำหรับการคำนวณแล้ว เขานำหน้าบรรดาเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกัน ทั้งนี้เพราะ ยาคอบ ผู้เป็นลุงช่วยสอนให้ ไอน์สไตน์เป็นเด็กขี้อาย เงียบขรึม เป็นเด็กช่างคิด ไม่ชอบการเล่นที่รุนแรง

อายุ 5 ขวบ บิดาซื้อเข็มทิศให้เป็นของขวัญ เขาสงสัยและเก็บมาคิดว่า ทำไมเข็มทิศจึงชี้ไปทางทิศเหนือตลอดเวลา เขาครุ่นคิดอยู่ตลอดทั้งวัน และไม่มีผู้ใดสามารถให้คำตอบแก่เขาได้ เมื่ออายุได้ 6 ขวบ มารดาบังคับให้เขาเรียนไวโอลิน ตอนแรกเขาไม่ชอบ แต่หลังจากนั้นหลายปีก็เริ่มสนใจและฝึกหัดต่อมาจนเล่นได้ดี (เล่นไวโอลินเป็นการพักผ่อนหย่อนใจมาจนตลอดชีวิต

เมื่ออายุ 12 ปี เพื่อนบ้านซึ่งเป็นชาวรัสเซีย ให้เขายืมหนังสือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาอ่าน ทำให้เขาสนใจมาก เพื่อนคนหนึ่งให้ยืมหนังสือ เรขาคณิตของยูคลิด เขาอ่านอย่างตั้งใจ และเข้าใจคำอธิบายของยูคลิดอย่างชัดเจน

ค.ศ. 1894 การค้าของบิดาไม่ดี บิดาจึงย้ายไปอยู่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ส่วนไอน์สไตน์ไม่ได้ตามไปด้วย ยังคงเรียนที่มิวนิคต่อไป แต่ไม่จบเพราะครูให้ออกเสียก่อน เขาเดินทางไปหาบิดาที่เมืองมิลาน ที่เมืองนี้เขาประทับใจกับความสวยงามและอัธยาศัยของชาวเมืองมาก บิดาบอกเขาว่าไม่มีเงินส่งให้เรียน ไอน์สไตน์จึงต้องเตรียมตัวเรียนวิชาชีพเพื่อออกไปประกอบอาชีพ

ค.ศ. 1896 ไอน์สไตน์สอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยโพลีเทคนิค ซึ่งอยู่ในเมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์ได้ แต่เนื่องจากยังไม่ได้ประกาศนียบัตรระดับมัธยม เขาจึงต้องเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมอาเราอีก 1 ปี จบแล้วจึงเข้าเรียนที่วิทยาลัยโพลีเทคนิค โดยไม่ต้องสอบอีก เมื่อเรียนจบแล้วก็สมัครเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ แต่ไม่มีที่ใดจ้างเพราะรังเกียจว่าเป็นชาวยิว สิ่งนี้ทำให้เขาเก็บไปครุ่นคิด เขาได้เรียนรู้ความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้แต่ในสวิส ซึ่งเป็นประเทศเสรี ยังมีความรังเกียจคนยิวอยู่ เขาคิดว่ามนุษย์ทุกคนที่เกิดมา ควรจะมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม เมื่อไม่มีที่ใดรับ เขาจึงต้องสอนพิเศษในวิชาคณิตศาสตร์ไปพลางก่อน


ไอน์สไตน์กับมายา

ไอน์สไตน์กับมิเลวา
ค.ศ. 1901 เขาทำงานเป็นพนักงานรับจดทะเบียนสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่เมืองเบิร์น ได้รับเงินเดือนๆ ละ 292 ฟรังค์ ไอน์สไตน์เปลี่ยนสัญชาติเป็นสวิส และแต่งงานกับมิเลวา มาเรค (Mileva Marec) หญิงสาวชาวฮังกาเรียน (ต่อมามีบุตร 2 คน บุตรชายคนแรกเกิดปลายปีนี้ เขาตั้งชื่อว่าอัลเบิร์ต)

ระหว่างนี้ไอน์สไตน์ทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อขอรับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยในประเทศสวิส ผลงานของเขาส่งไปลงในวารสารวิทยาศาสตร์ของเยอรมันชื่อ Zeitschrift der Physik อย่างสม่ำเสมอ

แถลงทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษ
ค.ศ. 1905 ขณะที่มีอายุ 26 ปี เขาก็ส่งเอกสารไปพิมพ์ 5 ฉบับ ในจำนวนนี้มีเรื่องหนึ่งชื่อ On the Electrodynamics of Moving Bodies หรืออิเล็กโทรไดนามิกส์ของวัตถุเคลื่อนที่ แต่เรื่องนี้เขาชอบเรียกว่า The Special Theory of Relativity หรือ ทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษมากกว่า ทฤษฎีนี้กล่าวถึง เวลา, สถานที่, ทิศทาง และการเคลื่อนที่ของสิ่งต่างๆ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงมวลสารที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ และพลังงานก็สามารถเปลี่ยนเป็นมวลสารได้ หรือมวลสารกับพลังงาน คือสิ่งเดียวกันนั้นเอง เขาเขียนสมการขึ้นมาว่า

E = mc2
เมื่อ
E เป็นพลังงานมีหน่วยเป็นเอิร์ก
m คือมวล มีหน่วยเป็นกรัม
c คือความเร็วของแสง มีหน่วยเป็นเซนติเมตรต่อวินาที

สมการของไอน์สไตน์ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตื่นเต้นมาก เพราะเป็นการลบล้างความเชื่อเดิมที่ว่า สสารจะไม่ถูกทำลายไป หรือทำให้เกิดมีขึ้นใหม่ก็ไม่ได้ และในปีเดียวกับทฤษฎีสัมพันธภาพได้รับการตีพิมพ์นั้น ก็มีอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน คือเรื่อง The Quantum Law of Emission and Absorption of Light หรือควอนตัมของการแผ่และการดูดกลืนของแสง หรือทฤษฎีโฟตอน (Photon Theory) เป็นการอธิบายสนับสนุนทฤษฎีควอนตัมของมักซ์ พลังค์ ที่เคยเสนอไว้ เมื่อ ค.ศ. 1900

ค.ศ. 1909 หลังจากได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตแล้ว เขาได้เข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยซูริค ตอนนี้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังมาก ปลายปี ค.ศ. 1910 เขาก็ได้บุตรชายอีกคนหนึ่ง คือ เอดเวิร์ด
ค.ศ. 1911 เขาได้รับเชิญไปเป็นศาสตราจารย์วิชาฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยปราก อยู่ได้ 1 ปี
ค.ศ. 1913 เขาเดินทางไปเยอรมัน เพื่อรับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์ไกเซอร์ วิลเฮล์ม (Kaiser Wilhelm Physical Institute) แต่ภรรยาไม่ต้องการเดินทางไปด้วย เขาจึงต้องหย่ากับภรรยา ไอน์สไตน์อยู่ที่เยอรมันถึง 14 ปี และแต่งงานกับ เอลซา ไอน์สไตน์ ญาติของเขาซึ่งมีลูกติดมาด้วย 2 คน


ไอน์สไตน์กับเอลซา

หนังสือพิมพ์ไทม์ ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1919 นำเรื่องของเขาไปเผยแพร่และพาดหัวข่าวว่า เขาเป็นผู้ที่ทำให้ทฤษฎีฟิสิกส์สมัยเก่าล้าสมัยไปเสียแล้ว ทำให้ไอน์สไตน์มีชื่อเสียงมาก ขณะที่มีชื่อเสียงนี้ เขาก็ต้องเสียใจที่มารดาถึงแก่กรรม และอีกเรื่องหนึ่งคือ ชาวยิวได้รับความบีบคั้นจากเยอรมันมาก
ค.ศ. 1921 ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ เขาส่งเงินรางวัลทั้งหมดไปให้ภรรยาเก่าเลี้ยงดูบุตร
ค.ศ. 1925 ได้รับเหรียญคอปเลย์ จากราชสมาคม ขณะเดียวกัน ก็ได้เดินทางไปประเทศต่างๆ เขาเคยเดินทางไปปาเลสไตน์ และคิดว่าจะต้องหาทางช่วยเหลือ ให้มีการก่อตั้งประเทศอิสราเอลให้จงได้

ค.ศ. 1925 ได้รับเหรียญคอปเลย์ จากราชสมาคม ขณะเดียวกันก็ได้เดินทางไปประเทศต่างๆ เขาเคยเดินทางไปปาเลสไตน์ และคิดว่าจะต้องหาทางช่วยเหลือ ให้มีการก่อตั้งประเทศอิสราเอลให้จงได้

ขณะที่ไอน์สไตน์อยู่ที่อเมริกานั้น เขาทราบว่าบ้านเรือนถูกพวกนาซีเยอรมันยึด เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจใน ค.ศ. 1933 และมีนโยบายกำจัดยิว ไอน์สไตน์ตระหนักถึงอันตรายและภัยที่จะเกิดจากความเป็นยิวของเขา จึงตัดสินใจไม่กลับเยอรมัน

ค.ศ. 1933 ไอน์สไตน์เดินทางไปอังกฤษ และกล่าวคำคัดค้านการกระทำของพวกนาซี ต่อมา ค.ศ. 1934 สถาบัน Advance Studies แห่งมหาวิทยาลัยปรินซตัน รัฐนิวเจอร์ซี ได้เชิญมาเป็นศาสตราจารย์ซึ่งเขาก็ตอบตกลง เขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอเลือกอยู่ในประเทศที่มีเสรีภาพทางการเมือง ประชาชนมีขันติธรรม และมีความเสมอภาค ภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย” ขณะที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเขาก็ได้วิจัยเพิ่มเติมอีกหลายเรื่อง และไปบรรยายตามที่ต่างๆ เพื่อหาทางสนับสนุนองค์การไซออนนิส เพื่อการจัดตั้งประเทศอิสราเอล โดยร่วมมือกับ ไคม์ ไวซมานน์ (Chaim Weizmann ค.ศ. 1874-1952) ศาสตราจารย์เคมี แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (ต่อมา ค.ศ. 1948 อังกฤษประกาศก่อตั้งประเทศอิสราเอล ไวซมานน์ เป็นประธานาธิบดีคนแรก เมื่อไวซมานน์สิ้นชีวิต ชาวอิสราเอลได้เชิญไอน์สไตน์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 2 แต่เขาปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า เขาไม่มีความชำนาญและความสามารถในการบริหารงาน ควรให้บุคคลอื่น ที่มีความเหมาะสมมากกว่าจะดีกว่า)

ค.ศ. 1936 เอลซา ภรรยาของเขาถึงแก่กรรม ต่อมาอีก 3 ปี สงครามโลก ครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้น

จดหมายจากไอน์สไตน์ถึงประธานาธิบดี

วันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1939 นักวิทยาศาสตร์ 3 คน คือ เอดเวิร์ด เทลเลอร์, ยูเกน พอลวิกเนอร์ และ ลีโอ ซีลาร์ด ทั้งสามคนเป็นชาวฮังกาเรียนทำงานเกี่ยวกับนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ได้เข้าพบไอน์สไตน์ เล่าเรื่องที่ได้ทราบมาว่า เยอรมันกำลังสร้างระเบิดนิวเคลียร์ ทั้งสามคนเคยทำงานในเยอรมัน ย่อมทราบดีว่า เยอรมมันมีความสามารถที่จะสร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้ แม้บางคนจะหลบหนีออกมาจากเยอรมันแล้วก็ตาม แต่นักวิทยาศาสตร์ฝีมือดีของเยอรมันอีกหลายคนยังอยู่ ทั้งสามชักชวนไอน์สไตน์ ให้เขียนจดหมายถึงประนาธิบดีรูสเวลล์ ให้ตระหนักถึงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น หากเยอรมัน สามารถสร้างระเบิดชนิดนี้ได้ก่อน ไอน์สไตน์เห็นว่าเป็นไปได้จริง ซีลาร์ด เป็นผู้ร่างจดหมาย ไอน์สไตน์เป็นผู้ลงชื่อ จากนั้น ซีลาร์ดก็ฝากจดหมาย ให้อเล็กซานเดอร์ ซาคัชส์ เพื่อมอบให้ประธานาธิบดี แต่เรื่องเงียบหายไป ปีนี้เองที่เยอรมันบุกโปแลนด์

ไอน์สไตน์กับซีลาร์ด
ค.ศ. 1940 เยอรมันบุกเดนมาร์ก นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกา 4 คน คือ เกลน ที. ซีบอร์ก,
เอ็ดวิน เอ็ม. แมคมิลแลน, โจเซฟ ดับบลิว. เคนเนดี, อาร์เธอร์ ซี. วาห์ล พบธาตุพลูโทเนียม


โกรฟส


ออปเปนไฮเมอร์

วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ฐานทัพสหรัฐฯที่ฮาวายถูกญี่ปุ่นโจมตี ทำให้สหรัฐฯต้องเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 เต็มตัว โครงการสร้างระเบิดได้รับการพิจารณาใหม่อีกหน นักวิทยาศาสตร์อเมริกาเข้าใจว่าเยอรมันกำลังสร้างระเบิดชนิดนี้ ประกอบกับนักวิทยาศาสตร์ที่หลบหนีออกมาจากเยอรมัน 2 คน คือ รูดอล์ฟ เพียร์ลส์ (Rudolf Peierls) และ ออตโต ริชาร์ด ฟริสซ์ (Otto Richard Frisch) สามารถคำนวณปริมาณยูเรเนียม-235 ที่ใช้ทำระเบิดนิวเคลียร์ได้ เมื่อผู้นำอเมริกาทราบเรื่องเช่นนี้ จึงอนุมัติให้สร้างระเบิดนิวเคลียร์ และตั้งชื่อโครงการนี้ว่า โครงการแมนฮัตตัน (Manhatton Project) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1942 มีงบประมาณที่ใช้ในการนี้ 2,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีนายพล โกรฟส์ (Gen. Leslic Groves) เป็นผู้อำนวยการทั่วไป, เจ. โรเบิร์ต ออปเปนไฮเมอร์ เป็นผู้อำนวยการบริหาร, เอนริโค เฟร์มี เป็นผู้ช่วย โดยมีนักวิทยาศาสตร์อเมริกาและจากยุโรปหลายคนร่วมมือกันทดลอง ได้แก่ อิมิลโล เซเกร, เออร์เนสต์ ลอว์เรนซ์, เฮอร์เบิร์ต แอนเดอร์สัน, นีลส์ โบร์, เจมส์ แชควิก, อาร์.เอช. คอมป์ตัน, ฮาโรลด์ ยูเรย์, ซี.เจ. แมคเคนซี ฯลฯ จนในที่สุดสามารถสร้างระเบิดขึ้นมาได้ 3 ลูก ต่อมาได้นำไปทิ้งที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ 2 ลูก
การทิ้งระเบิดที่มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากนี้ ไอน์สไตน์เสียใจเป็นอย่างยิ่ง เขาเสียใจที่ได้เซ็นชื่อในจดหมายฉบับนั้น เขากล่าวในตอนหลังว่า หากทราบว่าเยอรมันไม่สร้างระเบิด เขาก็จะไม่สนับสนุนให้มีการสร้างระเบิดนี้ขึ้นเลย ไอน์สไตน์คิดว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางสันติ มากกว่าจะนำมาใช้ เป็นเครื่องมือทำสงครามกัน บทเรียนนี้ ควรที่มนุษย์จะต้องตระหนัก ถึงคุณและโทษของวิทยาศาสตร์ให้มาก วิทยาศาสตร์จะให้ผลอย่างไรก็อยู่ที่ใจของมนุษย์เองทั้งสิ้น

หลังจากการสร้างระเบิดเพื่อการทำลายครั้งนั้นแล้ว นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ก็หาทางนำพลังงานนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ใช้สร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณู เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

บั้นปลายชีวิตของไอน์สไตน์ เขาวิจัยเกี่ยวกับทฤษฎีเอกภาพแห่งสนาม (Unified Field Theory) และแถลงเพิ่มเติมอีกใน ค.ศ. 1950 แต่น่าเสียดายที่เขายังทำได้ไม่สมบูรณ์ ต่อมาไอน์สไตน์ได้รณรงค์ให้มีการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ให้มาก เขาได้ร่วมลงนามในคำประกาศของ เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ ใน ค.ศ. 1955 เรื่องให้ยุติการใช้ระเบิดนี้เพื่อการสงคราม

ไอน์สไตน์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1955 ที่ปรินซตัน รัฐนิวเจอร์ซี มีพิธีฝังศพอย่างเงียบๆ ตามความต้องการของเขา ต่อมา รัฐบาลได้สร้างหอคอยไอน์สไตน์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ไว้ด้วย

มรดกที่ไอน์สไตน์ทิ้งไว้ มีงานเขียนมากกว่า 400 เรื่อง ทั้งงานวิจัย บทความ ปาฐกถา และอื่นๆ อีกมากมาย ผลงานเหล่านี้ ได้แก่

The Meaning of Relativity (ค.ศ. 1921)
Investigation on the Theory of the Brownian Movement (ค.ศ. 1926)
Unified Field Theory (ค.ศ. 1929)
In the Method of Theoretical Physics (ค.ศ. 1933)
ในเยอรมันได้สร้างอนุสาวรีย์ เป็นที่ระลึกบนเนินเขาใกล้เมืองปอตสดัม เขตเบอร์ลิน แม้เขาจะถึงแก่กรรมนานแล้วก็ตาม แต่ผลงานของเขาก็ยังเป็นที่กล่าวถึงกันอยู่ สูตร E = mc2 และทฤษฎีของเขาได้รับการพิสูจน์มาจนทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์กล่าวถึงเขาว่า “มีเพียง 10 คน เท่านั้นในโลกที่เข้าใจไอน์สไตน์”
“My pacifism is an instinctive feeling, a feeling that possesses me because the murder of men is abhorrent. My attitude is not derived from intellectual theory but is based on my deepest antipathy to every kind of cruelty and hatred.”
— Albert Einstein
เก็บความจากหนังสือ
1. อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เอกสารแปล ลำดับที่ 11 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2535.
2. ประวัติและวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ (History and Evolution of Science) สานิตย์ โภคาพันธ์ 2530.
ข่าวสารเพิ่มเติม