บทความ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับการลดก๊าซเรือนกระจก โดย มนูญ ศิริวรรณ – 31 ตุลาคม 2562

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับการลดก๊าซเรือนกระจก

มนูญ ศิริวรรณ

จากคอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” ในนสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 31 ต.ค. 2562


คนทั่วไปมักตั้งข้อรังเกียจหรือตกอกตกใจเวลามีใครพูดถึงพลังงานนิวเคลียร์ แม้จะตามหลังมาด้วยประโยคว่า “เพื่อสันติ” ก็ตาม

และด้วยความที่ยังยึดติดกับภาพของระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทำให้มีคนตายไปเป็นแสน ตลอดจนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลและฟุกุชิมะ

จึงทำให้กลายเป็นกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และไม่ยอมศึกษาข้อดี ข้อด้อย ของพลังงานนิวเคลียร์ที่อาจนำมาใช้ในการลดภาวะโลกร้อนได้อย่างจริงจัง จนเกิดแรงกดดันต่อการตัดสินใจของรัฐบาลทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ทำให้ต้องยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งเก่าและใหม่ไปอย่างน่าเสียดาย

ความจริงแล้วพลังงานนิวเคลียร์นับเป็นแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ (low-carbon power source) ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในปัจจุบัน มีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าของโลกที่ 10% เป็นรองจากการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำซึ่งอยู่ที่ 16% ตามรายงานของ IEA เรื่อง Nuclear Power in a Clean Energy System

ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อียู และญี่ปุ่น พลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำที่ใหญ่ที่สุดที่ใช้ผลิตไฟฟ้ามามากกว่า 30 ปี จนกระทั่งทุกวันนี้ และมีบทบาทที่สำคัญในความมั่นคงด้านไฟฟ้าในอีกหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม ด้วยแรงกดดันทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และกฎข้อบังคับต่างๆที่เข้มงวดขึ้น ทำให้รัฐบาลในประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มจะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เก่าที่มีอายุการใช้งานมานานลง โดยอาจจะปิดถึง 25% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปีค.ศ. 2025 ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย

การปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแผนการดังกล่าว และการที่จะไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ๆเกิดขึ้นอีก จะส่งผลให้เกิดการปล่อยสารคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นถึง 4 พันล้านตันตามรายงานของ IEA ฉบับนี้

ผู้อำนวยการบริหาร (Executive Director) ของ IEA ดร. Fatih Birol กล่าวว่า ถ้าปราศจากการมีส่วนร่วมและบทบาทอันสำคัญของพลังงานนิวเคลียร์ การปรับเปลี่ยนโฉมหน้าพลังงานโลก (global energy transition) จะเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น เพราะลำพังเพียงพลังงานหมุนเวียน การประหยัดพลังงาน และ นวัตกรรมเทคโนโลยีอื่นๆ คงไม่เพียงพอที่จะลดภาวะเรือนกระจก แต่พลังงานนิวเคลียร์จะมีส่วนอย่างสำคัญควบคู่กันไป ในการช่วยให้บรรลุถึงเป้าหมายด้านพลังงานที่ยั่งยืนและสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ไปพร้อมๆกันได้

แต่ทั้งหมดนี้อุปสรรคของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องได้รับการพิจารณา โดยเฉพาะในระดับนโยบาย เช่น การยืดอายุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เก่าออกไป การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ การลงทุนปรับปรุงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เดิมให้มีความทันสมัยและปลอดภัยมากขึ้น

ดร. Birol ยังได้พูดถึงนวัตกรรมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors) ที่จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นและลดขนาดของโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ในประเทศที่พัฒนา ที่กำลังเผชิญกับปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้างและงบประมาณที่บานปลายอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้คงไร้ความหมาย ถ้าเราไม่เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคำว่า “นิวเคลียร์” !!!

มนูญ ศิริวรรณ

จากคอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” ในนสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 31 ต.ค. 2562


ข่าวสารเพิ่มเติม