บทความ พลังนิวเคลียร์ในจีน โดย วัชระ นูมหันต์ – 1 ธันวาคม 2562

Vatchara’s Blog

วัชระ นูมหันต์
1 ธันวา 62


พลังนิวเคลียร์ในจีน

สัปดาห์ที่แล้วสมาคมนิวเคลียร์ฯได้จัดไปดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของจีน จึงถือโอกาสนำมาเล่าสู่กันฟัง

กรณีภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะของญี่ปุ่น มีผลกระทบต่อโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปทั่วโลก ที่คิดบวกหน่อย ก็มีการทบทวนการออกแบบระบบและอุปกรณ์ควบคุมความปลอดภัยต่างๆให้มันหนักข้อยิ่งขึ้น จากเตาปฏิกรณ์รุ่นเดิม (generation II) ที่สามารถปิดระบบและ cool down ได้ด้วยตัวเองที่ทำงานด้วยระบบไฟสำรองฉุกเฉิน เช่นเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ระบบนี้ก็จะทำงานทันที มาเป็นเตาปฏิกรณ์รุ่นใหม่ (generation III) ที่ยัง cool down ได้ ถึงแม้ไม่มีไฟฟ้าอยู่เลย เช่นกรณีฟูกูชิมะ ที่ระบบไฟฉุกเฉินทำงานเมื่อเกิดแผ่นดินไหวก็จริง แต่ถูกคลื่นยักษ์ซึนามิ ถล่มซ้ำ จนระบบไฟฟ้าฉุกเฉินเดี้ยงไป ปั๊มไม่ทำงาน แต่รุ่นใหม่ (gen III) ระบบ cool down ก็ยังทำงานต่อได้ด้วยแรงโน้มถ่วง

การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจีน ปัจจุบัน (นับถึงมีนาคม 2019) จีนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 46 โรง (42,800 เมกะวัตต์) และกำลังก่อสร้างอีก 11 โรง (10,800 เมกะวัตต์)

บางแห่งก็ชะลอโครงการ เพื่อทบทวนมาตรการความปลอดภัยต่างๆ ที่จะออกมาเพิ่มเติม (งานเข้า) โดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ International Atomic Energy Agency (IAEA)

บางประเทศก็ขยับเลื่อนออกไป อย่างเช่นของไทยเรา แต่ขยับอีท่าไหนไม่รู้ ทะลุหลุดแผน 20 ปีออกไปเลย

ใช่แล้วครับ ไทยเราเคยบรรจุโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในแผนเหมือนกัน โดยมองล่วงหน้าไปถึง 20 ปี แต่มีการปรับแก้เป็นระยะๆ ตามสถานการณ์ ล่าสุด คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018) ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติของ ครม. ไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน ต้นปีนี้เอง

หลายสิบปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เคยอยู่ในแผน ตั้งแต่สมัยที่เล็งกันไว้ว่าจะทำที่ อ่าวไผ่ ซึ่งถ้าไม่เลื่อน ป่านนี้เดินเครื่องเปิดใช้งานไปนานแล้ว แต่แผนงาน ซึ่งไม่เคยขึ้นมาเป็นโครงการ ก็ถูกเปลี่ยนสถานที่ และเลื่อนเวลา จนตกแผนไปในที่สุด

ลองมาดูแผนนี้กัน …

มองไปอีก 20 ปีข้างหน้า ถ้านับเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแกนหลักของการผลิตไฟฟ้า จะมีถ่านหิน 2 โรง (ภาคใต้ และ ภาคตะวันออก) ซึ่งต้องรอลุ้นกันว่าจะไปรอดไหม ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงอีกหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับฟ้าดิน (ชาวบ้าน)

อีก 7 โรง เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่งานนี้ NGO ไม่มีโอกาสได้ค้านครับ เพราะไม่มีอยู่ในเมืองไทยเลย อยู่ที่ลาวหมดครับ พูดง่ายๆคือซื้อไฟจากลาวนั่นเอง

แต่ที่เยอะสุดก็คือ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ทั้งของรัฐและเอกชน มีมากถึง 29 โรง แน่นอนว่า ก๊าซคงไม่สามารถโชติช่วงชัชวาลไปได้ตลอดกาล เพราะใช้กันจนหมดอ่าว ตอนนี้ กฟผ.กับ ปตท. พี่น้องคู่ซี้ สังกัดกระทรวงพลังงานทั้งคู่ จึงแย่งกันจะเป็นผู้นำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquid Natural Gas : LNG) ไงครับ

ไฟฟ้าตั้ง 29 โรง ดูว่าเยอะ ที่จริงไม่เยอะหรอกครับ เพราะค่อยๆทยอยเข้ามาปีละโรงสองโรง แถมชาวบ้านก็อาจจะไม่รับรู้ด้วยว่า เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ เพราะโดยมากจะเป็นการสร้างทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุขัย แล้วรื้อทิ้งสร้างใหม่ จำนวนโรงก็กระจุกอยู่ในบริเวณเดิม เช่นโรงไฟฟ้าไฟฟ้าพระนครใต้ เคยมีถึง 5 โรง เป็นต้น

ช่วง 20 ปีของแผน ถ้านับรวมกำลังผลิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าขยะ หรือโรงไฟฟ้าสายลม แสงแดด ทั้งหลายแหล่ รวมเข้ามาหมด สุดท้ายเราจะมีกำลังผลิตรวม 77,211 เมกะวัตต์ (ต้นแผน 46,090 +โรงไฟฟ้าใหม่ 56,431 -โรงไฟฟ้าหมดอายุ 25,310)

ดูเยอะนะครับ แต่ไม่มีนิวเคลียร์ เพราะถูกเขี่ยตกแผนไปแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างที่เขาว่ากันรึเปล่า (วิกฤตฟูกูชิมะ เป็นโอกาสที่จะไม่เอานิวเคลียร์)

แต่ถ้ากลับมาล่ะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (EGAT) จะทำไหม

จากการที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ FangChengGang Nuclear Power Plant (FCGNP) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ไปดูงานในครั้งนี้ มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของไทยเราเข้าไปถือหุ้น 10% ก็คือ RATCH group ซึ่งถือเป็นบริษัทลูกของ EGAT นั่นเอง เพราะ EGAT ถือหุ้นใหญ่ใน RATCH group

ดังนั้น EGAT เขาคงไม่ทิ้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปง่ายๆหรอก เพราะอุตส่าห์แอบส่งบริษัทลูกเข้าไปถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของจีนมากพอสมควรอย่างนี้ จริงไหมครับ

จีน มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มากเป็นอันดับสามของโลก และยังมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาอีกแทบทุกปี เพื่อจะมาแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน

จีนมีรัฐวิสาหกิจใหญ่ (เหมือน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ) สองหน่วยงานที่ทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หน่วยแรก รับผิดชอบทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือคือ China National Nuclear Corporation (CNNC) ซึ่งเดิมเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ต่อมาเปลี่ยนรูปการทำงานเป็นบริษัทในภายหลัง และไม่ทำเฉพาะแต่เพียงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังทำอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

หน่วยงานที่สองคือ China General Nuclear Power Group (CGN) เปลี่ยนชื่อจากเดิม China Guangdong (กวางตุ้ง) Nuclear Power Group รับผิดชอบทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ โรงไฟฟ้านิวเคียร์ที่ไปดูก็อยู่ในสังกัดของหน่วยงานนี้ ซึ่งเดินเครื่องแล้ว 2 โรง ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ กำลังก่อสร้างอีก 2 โรง ขนาด 2,100 เมกะวัตต์ และวางแผนจะสร้างในอนาคตอีก 2 โรง อีก 2,100 เมกะวัตต์ รวมเมื่อเต็มโครงการจะมีขนาด 6,200 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ริมทะเล (โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของจีนส่วนใหญ่ติดทะเล เพื่อจะได้อาศัยน้ำทะเลมาหล่อเย็น) ทางตอนใต้ ใกล้ชายแดนเวียดนาม

ชายแดน จีน-เวียดนาม ส่วนนี้ ใครที่เป็นนักประวัติศาสตร์คงจะทราบว่า เป็นส่วนที่มีผลทำให้ไทยเราอยู่รอดปลอดภัยมาได้ถึงทุกวันนี้ (งงละสิ)

เป็นช่วงหลังสงครามเวียดนามที่อเมริกันวิ่งเผ่นกลับบ้านแทบไม่ทันในปี 2518 นั่นแหละครับ หลายคนคงเกิดทัน

ช่วงนั้นเวียดนามกำลังฮึกเหิม ส่งกองทหารหลายกองพล บุกลุยเขมรแดงซึ่งมีจีนหนุนหลัง เข้ามาจนติดประชิดชายแดนไทย แถมประกาศแบบ เกทับ บลัฟฟ์แหลก บอกว่าสามารถบุกยึดกรุงเทพฯได้ภายใน 2 ชั่วโมง (ว้าว!)

จะหวังลุงแซมช่วยสักหน่อย พี่แกก็เปิดแน่บกลับบ้านไปแล้ว

รัฐบาลไทยจึงส่ง “ขงเบ้งแห่งกองทัพบก” คือ พันเอก ชวลิต ยงใจยุทธ (ยศในขณะนั้นของบิ๊กจิ๋ว) กลับไปหาดินแดนของขงเบ้ง เพื่อขอความช่วยเหลือจากจีน

ปฏิบัติราชการลับ เป็นผลสำเร็จ โดยคณะนายทหารสามนาย (พลโทผิน เกสร พันเอก ชวลิตฯ และ พันเอก พัฒน์ อัคนิบุตร) ได้พบกับ เติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งท่านก็ได้สั่งการให้ส่งกองกำลังไปที่ชายแดน จีน-เวียดนาม ตรงที่ไปดูงานกันนี่แหละครับ

ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า…

“… พันเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้รับเกียรติจากกองทัพจีน ให้ยิงปืนใหญ่นัดแรกจาก กว่างซี เข้าสู่ดินแดนเวียดนาม ทำให้เวียดนามต้องถอนกำลังจากกัมพูชา เพื่อไปต้านการรุกรานจากจีน”

นักการทหารเขาเรียกว่า “สงครามสั่งสอน” ครับ ไทยเราก็เลยรอดไป โดยไม่เสียเลือดเนื้อ ปล่อยให้จีนกับเวียดนามรบกันเอง

ยุครัฐบาลน้าชาติ มีสโลแกนว่า “เราจะเปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า”

นึกย้อนไปถึงยุครัฐบาลบิ๊กจิ๋ว ไม่ยักกะมีใครไปถามท่านว่า “เราจะเปลี่ยนสนามรบ เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บ้างไหมครับ”

เผื่อว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะได้ไม่ถูกเลื่อนจนตกแผน PDP ไปไงครับ

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

1 ธันวา 62

Ref: https://en.m.wikipedia.org/wiki/Nuclear_power_in_China

ข่าวสารเพิ่มเติม