ฟุกุชิมะ: การระบายน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วลงสู่ทะเล

๑,๒อุษา กัลลประวิทย์ วราลี คงเจริญ สาเราะห์ นิยมเดชา ยุทธนา ตุ้มน้อย

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับแผนการจัดการและผลกระทบเนื่องจากการทิ้งน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ของบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกเพาเวอร์ (TEPCO) ลงทะเล ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยืนยันเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ค.ศ. ๒๐๒๑ ว่ามีแผนจะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีกว่า ๑ ล้านตันที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิชิ ลงสู่ทะเล ท่ามกลางความวิตกกังวลจากประเทศเพื่อนบ้านและกระแสคัดค้านอย่างรุนแรงจากชุมชนชาวประมงในท้องถิ่น การระบายน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่บำบัดแล้วนี้อาจเริ่มต้นในอีกหลายปีข้างหน้า และต้องใช้เวลานานนับสิบๆ ปีกว่าจะแล้วเสร็จ แต่ก็เรียกเสียงวิจารณ์ดังกระหึ่มจากทั้งในและนอกประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นอ้างว่าการปล่อยน้ำเหล่านี้ออกสู่ธรรมชาติมีความปลอดภัย เนื่องจากผ่านการบำบัดและขจัดสารกัมมันตรังสีออกเกือบหมด และเมื่อลงสู่มหาสมุทรก็จะยิ่งเจือจางลงไปอีก ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) โดย นายราฟาเอล มาริอาโน กรอสซี ผู้อำนวยการใหญ่ ได้ประกาศรับรองการปล่อยน้ำออกจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิชิ พร้อมยืนยันว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งอื่นๆ ในโลกก็มีกระบวนการกำจัดน้ำเสียที่ไม่แตกต่างกัน นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ แห่งญี่ปุ่นกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าการปล่อยน้ำออกจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ“เป็นภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” และต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะปิดโรงไฟฟ้าแห่งนี้ลงอย่างถาวร โดยการปล่อยน้ำปนเปื้อนที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “มั่นใจว่ามีความปลอดภัย” และต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการ “ปกป้องชื่อเสียงของประเทศ”

รูปที่ ๑ แสดงแผนผังตำแหน่งที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์ (Unit 1-5) และความเสียหายของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิชิ

ปัจจุบันมีน้ำปนเปื้อนรังสีกว่า ๑.๒๕ ล้านตันถูกกักเก็บอยู่ในแทงก์ขนาด 1400 ลูกบาศก์เมตรที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะซึ่งมีทั้งน้ำที่ใช้หล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ซึ่งเกิดการหลอมละลายหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี ค.ศ.๒๐๑๑ รวมไปถึงน้ำฝนและน้ำใต้ดินที่ไหลซึมเข้ามาทุกๆ วัน โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีการติดตั้งระบบปั๊มและกรองน้ำที่เรียกกันว่า Advanced Liquid Processing System (ALPS) ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียได้วันละหลายตัน และกรองเอาสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ออกไป บริษัทโตเกียวอิเล็กทริกเพาเวอร์ (TEPCO) ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้ามีแผนที่จะกรองน้ำเพื่อแยกไอโซโทปต่างๆ ออก เหลือเพียงทริเทียม (tritium) ซึ่งเป็นไอโซโทปหนึ่งใน ๓ ชนิดของอะตอมไฮโดรเจนที่ยากจะแยกออกจากน้ำได้ หลังจากนั้นก็จะนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วไปเจือจางเพิ่มอีกด้วยน้ำทะเล จนกระทั่งความเข้มข้นรังสีของทริเทียมไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วจึงจะปล่อยออกสู่ทะเล

มีเสียงคัดค้านจากชุมชนชาวประมงในท้องถิ่นด้วยเกรงว่าการปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้าจะทำลายความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของอาหารทะเลจากจังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะกอบกู้คืนมาได้ นอกจากเสียงคัดค้านจากคนในพื้นที่เองแล้ว ท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นยังนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกคำแถลงตำหนิโตเกียวว่า “ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง” พร้อมเตือนให้ญี่ปุ่นชะลอแผนการปล่อยน้ำ จนกว่าจะบรรลุข้อตกลงกับประเทศใกล้เคียงที่มีส่วนได้ส่วนเสียรวมถึง IAEA อีกทั้งยังขู่กลายๆ ว่าจะขอสงวนสิทธิ์ที่จะใช้มาตรการตอบโต้ หากญี่ปุ่นยังคงเดินหน้าทำตามแผนเดิม ก่อนหน้านั้นกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ก็ได้แสดงความ “ผิดหวังอย่างยิ่ง” ต่อการตัดสินใจของญี่ปุ่น ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาถือหางโตเกียว โดยระบุว่าที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่น “ได้ดำเนินการตัดสินใจอย่างโปร่งใส และใช้แนวทางที่สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยนิวเคลียร์ที่ทั่วโลกยอมรับ”

ผู้เขียนได้รวบรวมเหตุการณ์สำคัญ ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ในระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.๒๐๑๑-๒๐๒๑) โดยสืบค้นข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่ต่างๆ และข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง เช่น จากเว็บไซต์ของ METI เป็นต้น เพื่อศึกษารูปแบบผลกระทบจากแผนการทิ้งน้ำกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะของบริษัท TEPCO ดังกล่าว ต่อน่านน้ำและสิ่งแวดล้อมของไทย ตลอดจนความเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่ของไทยจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์แผนปฏิบัติการดังกล่าว

เอกสารอ้างอิง